การลาออกหรือยุบสภายังไม่เพียงพอ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ‘3 ยุบ 1 เลิก 1 แก้’ เพื่อจัดการกลไกการสืบทอดอำนาจ

นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2563 ในหัวข้อเรื่อง “การลาออกหรือยุบสภายังไม่เพียงพอ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ “3 ยุบ 1 เลิก 1 แก้” เพื่อจัดการกลไกการสืบทอดอำนาจ” โดยมีรายละเอียดดังต่อไป

รัฐบาลสืบทอดอำนาจจาก คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตด้านความชอบธรรมและประสิทธิภาพ

ในด้านความชอบธรรม รัฐบาลชุดนี้มีที่มาจากการสืบทอดอำนาจของ คสช. ตามกลไกของรัฐธรรมนูญ 2560 และยังใช้ทุกวิธีเพื่อรักษาอำนาจและครองอำนาจต่อไป

ตั้งแต่… รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

การใช้กำลังทางกายภาพ กำลังทางกฎหมาย เข้าปราบปรามประชาชน

ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ล้ม ร่าง ล้ม ร่าง หลายครั้ง
ออกแบบรัฐธรรมนูญชนิดที่ “โกง” ที่สุด รัฐธรรมนูญที่โฆษณาว่า “ปราบโกง” แต่จริงๆ แล้ว มันคือ รัฐธรรมนูญที่ “โกงเวลา โกงโอกาส โกงอนาคต” ของประเทศไทย

กระบวนการออกเสียงประชามติที่ไม่ได้มาตรฐาน ใช้เป็นเครื่องมือในการแต่งหน้าทาปากว่ารัฐธรรมนูญนี้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน

การเลื่อนเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ จนกว่ามั่นใจว่าพวกตัวเองจะชนะ

การตั้งพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือการสืบทอดอำนาจ การ “ดูด” นักการเมืองเข้าสังกัดโดยใช้กลวิธีและอิทธิพลต่างๆ

กลไกรัฐที่สนับสนุนพวกตนเองในการเลือกตั้ง การแบ่งเขตเลือกตั้งที่เอื้อประโยชน์แก่พวกตนเอง การออกแบบระบบเลือกตั้งที่มิให้พรรคการเมืองครองเสียงข้างมาก

การจัดการเลือกตั้งที่ไม่ได้มาตรฐานจนไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ยุติธรรม

การคำนวณคะแนนแบบพิสดาร นำคะแนนไปแบ่งทอนให้พรรคเล็กได้ 1 ที่นั่ง เพื่อกวาดต้อนเข้าร่วมรัฐบาล “สหพรรค”

สมาชิกวุฒิสภา 250 คน เลือกโดยหัวหน้า คสช. แล้ว ส.ว. ก็ไปเลือกเอาหัวหน้า คสช. กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี

การใช้ “นิติสงคราม” กำจัดศัตรูทางการเมือง
ระบบ “สองมาตรฐาน” ยอมเอาองค์กรตรวจสอบทั้งระบบเข้าแลกกับการกำจัดศัตรูทางการเมือง และรับรองการใช้อำนาจให้กับพวกตัวเอง ถ้าเป็นพวกเอ็ง ไม่รอด ถ้าเป็นพวกข้า รอดหมด

“แจกกล้วย-งูเห่า”

รัฐบาล “สหพรรค” ไร้เสถียรภาพ ส่งมอบนโยบายตามที่หาเสียงไม่ได้ และขัดแย้งกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล

หักดิบมติสภา เพื่อไม่ให้มีคณะกรรมาธิการตรวจสอบประกาศ คำสั่ง คสช และการใช้มาตรา 44

ปล่อยให้รัฐมนตรีที่มีประวัติฉาวโฉ่ครองอำนาจต่อไป
ฯลฯ

ในด้านประสิทธิภาพ รัฐบาลชุดนี้ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาของประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเผชิญหน้ากับวิกฤตหลายเรื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 ตั้งแต่ เศรษฐกิจ ปากท้อง น้ำสะอาด ฝุ่นพิษ การท่องเที่ยว ภัยแล้ง การกราดยิงที่โคราช COVID-19

รัฐบาลขาดความชอบธรรม แต่ยังมีฝีมือในการบริหารประเทศ ก็อาจช่วยฟื้นฟูความชอบธรรมกลับมาได้บ้าง

รัฐบาลมีความชอบธรรม แต่ไม่มีฝีมือในการบริหารประเทศ อย่างน้อยประชาชนก็ยังให้โอกาส

แต่รัฐบาลสืบทอดอำนาจของประยุทธ์ ขาดความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง แล้วยังไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาอีกด้วย ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย เริ่มเห็นพ้องต้องกันว่า “หมดเวลาประยุทธ์” หรือ “รัฐบาลชุดนี้หมดบุญแล้ว”

มีข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากนายกรัฐมนตรี แล้วให้สภาเลือกคนใหม่มาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

มีข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภา แล้วเลือกตั้งใหม่

ทั้งสองข้อเรียกร้องนี้ ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ ด้วยระบบรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นกลไกของการสืบทอดอำนาจ

ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ส.ว. 250 คน ก็จะมีส่วนเลือกคนแบบเดิมกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก เราก็จะได้คนแบบเดิม รัฐบาลแบบเดิม กลับมาอีก ต่อให้ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบนี้ เราก็จะได้ “สหพรรค” กลับมา และมี ส.ว. 250 คน เลือกคนแบบเดิมกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไข “ต้นตอ” ของปัญหา นั่นคือ รัฐธรรมนูญ 2560

พรรคอนาคตใหม่ได้เสนอนโยบายหลักเพื่อใช้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 นั่นคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้งเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเข้าแทนที่รัฐธรรมนูญ 2560

พวกเรายังคงเชื่อมั่นว่าแนวทางนี้ คือ การแสวงหา “ฉันทามติใหม่” ของประเทศร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องใช้เวลา และมีหลายฝ่ายที่ยังไม่เห็นพ้องด้วย ในขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันเรียกร้องว่าจำเป็นต้องจัดการ “กลไกการสืบทอดอำนาจ” มิเช่นนั้นแล้ว การลาออกของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือการยุบสภา จะไม่ช่วยอะไรเลย กลายเป็นเพียง “ทางลง-ทางรอด” ของประยุทธ์ แล้วเราก็จะได้ นายกรัฐมนตรีแบบประยุทธ์ รัฐบาลแบบประยุทธ์ โดยที่ไม่มีชื่อประยุทธ์ กลับมาอยู่ดี

ผมเสนอให้การรณรงค์ในช่วงเวลานี้ นอกจาก ให้ประยุทธ์ลาออก ให้ประยุทธ์ยุบสภา แล้ว จำเป็นต้องเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร่งด่วน เพื่อยกเลิกกลไกการสืบทอดอำนาจ “3 ยุบ 1 เลิก 1 แก้” ดังต่อไปนี้

หนึ่ง ยุบ ส.ว. 250 คนตามบทเฉพาะกาล 5 ปีแรก ด้วยการยกเลิกมาตรา 269 มาตรา 270 มาตรา 271 และมาตรา 272

สอง ยุบศาลรัฐธรรมนูญ และตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นทำหน้าที่เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

สาม ยุบคณะกรรมการการเลือกตั้ง และตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งชั่วคราว ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งไปพลางก่อน

สี่ เลิกมาตรา 279 เพื่อยกเลิกบทบัญญัติรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศ คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง

ห้า แก้มาตรา 256 เปลี่ยนแปลงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น เหมือนกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550

แน่นอนที่สุด การแก้ไขรัฐธรรมนูญ “3 ยุบ 1 เลิก 1 แก้” นี้ เป็นไปได้ยากยิ่ง ตราบใดที่วุฒิสภาไม่ยินยอม

แล้วจะทำเช่นไรที่จะทำให้วุฒิสภายอม

คงเหลือเพียงสองวิธี ไม่เจ้าของ ส.ว. ต้องสั่งไปที่ ส.ว…. ก็เจ้าของประเทศต้องกดดันให้ ส.ว. ยอมตาม