กรรมการสิทธิฯร่อนแถลงการณ์หนุนทุกภาคส่วนร่วมต้าน ‘โควิด-19’ พร้อมชง 6 แนวทางแก้ปัญหาด่วน

เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2563 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ออกแถลงการณ์เรื่อง “สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19” รายละเอียดดังนี้ ตามที่ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (COVID-19) ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดของโรคดังกล่าวเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ ในส่วนประเทศไทยรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารสุข ได้ประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 26 กุมภาพัน์ 2563 ด้วยนั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีความห่วงใยต่อสถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าวที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิในการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน ซึ่งพึงได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม โดยขอชื่นชมและให้กำลังใจทุกภาคส่วน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้อุทิศตนอย่างเต็มกำลังความสามารถในการรณรงค์ ป้องกัน และระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค อย่างไรก็ตาม กสม. มีข้อห่วงใยและมีข้อเสนอต่อทุกภาคส่วนเพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย รวมทั้งการเยียวยาความเสียหาย ดังนี้

  1. รัฐบาลควรจัดตั้งองค์กรที่มีกลไกร่วมกันในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 โดยมีอำนาจเต็มในการดำเนินการ ไม่ควรให้หน่วยงานของรัฐต่างฝ่ายต่างดำเนินการ และเผยแพร่ข่าวจนเกิดความสับสนแก่ประชาชน
  2. กลไกตามข้อ 1. ควรเปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอย่างเป็นระบบและชัดเจน รวมทั้งมีมาตรการในการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และยับยั้งการแพร่ระบาดอย่างรัดกุม เป็นเอกภาพ และบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่สาธารณชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งควรเตรียมแผนการรับมือสถานการณ์กรณีมีการแพร่ระบาดในวงกว้าง โดยพึงสื่อสารให้ประชาชนรวมทั้งผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย ได้รับทราบข้อมูลต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ทั่วถึง และรวดเร็ว ตลอดจนแก้ไขข้อมูลที่ไม่ถูกต้องโดยเร็ว เพื่อลดความตื่นตระหนกและความหวาดระแวงในหมู่ประชาชน
  3. รัฐบาลควรเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์และสิ่งจำเป็นในการป้องกันโรค เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ และเจลล้างมือ ให้เพียงพอต่อความต้องการของทุกภาคส่วนตามลำดับความจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้ป่วย และผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ขณะเดียวกันประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้สะดวกและราคาเป็นธรรม ทั้งนี้รัฐบาลควรนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการอุปกรณ์และสิ่งจำเป็น เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึง และเป็นธรรม ภายใต้หลักธรรมาภิบาล
  4. มาตรการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมายที่รัฐอาจนำออกมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาโดยมุ่งถึงประโยชน์ของส่วนรวมในระยะยาวเป็นสำคัญในครั้งนี้ แม้จะสามารถกระทำได้ก็ตาม แต่ก็พึงคำนึงถึงความจำเป็นและความได้สัดส่วนกับความเสี่ยงที่ประเมินแล้ว และหากเกิดผลกระทบต่อประชาชน รัฐพึงมีมาตรการชดเชยเยียวยาตามความเหมาะสมให้ทันท่วงที
  5. รัฐบาลควรให้การดูแลเยียวยาเป็นพิเศษแก่ผู้มีรายได้น้อย ประชาชนในชนบทห่างไกล ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ต้องขัง ซึ่งมีโอกาสได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคเช่นกัน เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันที่จำเป็น การดูแลสุขภาพ การเฝ้าระวัง และการรักษาอย่างถูกต้อง และทันท่วงที
  6. ประชาชนควรพิจารณาข้อมูลข่าวสารที่ได้รับอย่างระมัดระวัง เพื่อมิให้มีการเผยแพร่ ส่งต่อข้อมูลที่ไม่เป็นจริงต่อสาธารณะ อันก่อให้เกิดความตื่นตระหนกและความเข้าใจผิด นอกจากนี้ขอให้ประชาชนและสื่อมวลชนพึงหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดหรือเนื้อหาสร้างความเกลียดชัง แบ่งแยก ตีตรา และเลือกปฏิบัติต่อกันด้วยเหตุแห่งความเกี่ยวพันกับโรค เพื่อทุกฝ่ายจะได้ให้ความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิผล

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันบนพื้นฐานของความเอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ ปฏิบัติตามกฎหมาย และการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติการณ์อันยากลำบากในครั้งนี้ไปได้.