‘พิธา’ โชว์วิสัยทัศน์สุดเฉียบ ‘เมื่อรัฐล้มเหลวอย่างเป็นระบบ ทำนักฉวยโอกาสเติบโต-ประชาชนสับสน-ความเชื่อมั่นดิ่ง’

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ว่าที่หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้แสดงวิสัยทัศน์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 13 มี.ค.2563 โดยมีรายละเอียดดังนี้

เมื่อรัฐล้มเหลวอย่างเป็นระบบ ทำนักฉวยโอกาสเติบโต – ประชาชนสับสน – ความเชื่อมั่นดิ่ง

ภายใต้การบริหารงานในสถานการณ์วิกฤติการระบาดของไวรัส COVID-19 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้เกิดความล้มเหลวขึ้นอย่างเป็นระบบ มีความไร้ประสิทธิภาพซึ่งส่งต่อผลกระทบสัมพันธ์ถึงกันเป็นวงจร เช่นภายใต้การบริหารงานของกระทรวงพาณิชย์ ครั้งแรกผู้บริหารก็ยืนยันว่าสินค้ามีเพียงพอต่อความต้องการ ต่อมาแม้จะมีคำสั่งออกมาจำนวนมากและการประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม ห้ามการกักตุน รวมถึงการออกมาย้ำตลอดเวลาว่า “สินค้ามีเพียงพอ” แต่ในความเป็นจริงประชาชนรู้ว่าสินค้าเหล่านั้นยังคงขาดตลาด และราคาสูงขึ้นไป 10-20 เท่า โดยที่รัฐแทบจะควบคุมจัดการอะไรไม่ได้เลย

หันไปดูที่การบริหารงานของกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่แตกต่างกัน ครั้งแรกผู้บริหารกระทรวงก็บอกว่าเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา จนถึงวันนี้ยังคงไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเข้ามาจากผู้ที่เดินทางเข้าออกประเทศได้อย่างอุ่นใจเพียงพอ ด้านความเข้มงวด การกักตัวกลับมีขึ้นเฉพาะผู้ไปใช้แรงงานผิดกฎหมายเท่านั้น ไม่ว่าสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส.ส. หรือรัฐมนตรีบางคน เมื่อกลับจากประเทศเสี่ยงกลับมีข้อยกเว้น ไม่ต้องปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายครั้งที่แนวนโยบายของกระทรวงเปลี่ยนไปมา จนประชาชนและบุคลากรทางการสาธารณสุขต่างสับสนและขาดความเชื่อมั่นอย่างรุนแรง

ผมขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ผู้เป็นด่านหน้าของการป้องกันโรคระบาด หลายแห่งยังคงขาดหน้ากากอนามัย แต่กระทรวงยังคงยืนยันว่ามีเพียงพอและกระจายอย่างทั่วถึงแล้ว และมีกระแสข่าวว่ามีการกดดันให้ปิดปาก หากโรงพยาบาลใดบอกว่าขาดแคลน ผอ. จะโดนสอบสวน การกวาดความจริงไปซ่อนไว้ใต้พรมให้คนทำงานต้องไปแบกรับความเสี่ยงกันเองแบบนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวมานี้ ทำให้นักฉวยโอกาส ถึงได้ย่ามใจและเติบโตขึ้นมาบนความทุกข์ร้อนของประชาชน การฉวยโอกาสกักตุนสินค้า ค้ากำไรส่วนต่างกันไปกันมาเป็นล่ำเป็นสัน สุดท้ายหลักฐานชัดๆ จึงได้หลุดออกมาสู่สาธารณะ ซึ่งวันนี้ภาพคงคมชัดพอบอกได้แล้วว่าเราเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

ความเลวร้ายนี้ไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคลเพียงบางคนเท่านั้น หากแต่เป็นภาวะความด้อยประสิทธิภาพของระบบรัฐราชการรวมศูนย์และการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ได้วางเอาไว้ แต่ละหน่วยงานแต่ละกระทรวงต่างทำงานแยกส่วน เมื่อมารวมกับผู้นำที่ไร้วิสัยทัศน์และไร้ความสามารถจึงเป็นที่มาของวิกฤติ

นอกเหนือจากนั้นข่าวล่าสุดคือ รัฐบาลประกาศยกเลิกศูนย์กักกันโควิด 232 แห่ง ทั่วประเทศ ปล่อยผู้เข้าข่ายติดเชื้อทุกคนกลับบ้านไปกักตัวเอง โดยเราไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่าแต่ละคนนั้นจะเข้มงวดในการกักกันตัวเองขนาดไหน จะทราบรายละเอียดข้อควรปฏิบัติขนาดไหน นี่คืออีกหนึ่งในตัวอย่างของความสับสนมึนงง ของการดำเนินการของภาครัฐ ซึ่งส่งผลอย่างมากกับประชาชนต่อความเข้าใจและความมั่นใจในสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เมื่อสภาพการบริหารในสถานการณ์วิกฤติสับสน รัฐล้มเหลวจนไม่อาจควบคุมอะไรได้ จึงเป็นธรรมดาที่ประชาชนจะไม่เชื่อมั่นและพยายามทุกวิถีทางเพื่อหาสิ่งของจำเป็นมาป้องกันตัวเองและคนที่รัก

รวมถึงความเชื่อมั่นที่ดิ่งลงเหวยังแสดงผลชัดเจนผ่านตลาดหุ้น หุ้นไทยยังคงร่วงหนักต่อเนื่องมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องใช้มาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์ หยุดการซื้อขายชั่วคราว 2 วันติดต่อกัน โดยในขณะนี้รัฐบาลเตรียมจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลตลาดทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเห็นว่าไม่ควรทำอย่างยิ่ง กองทุนดังกล่าวจะเป็นการใช้ภาษีที่เป็นธรรมแค่ไหน เพราะเป็นการนำภาษีของประชาชนไปอุ้มบริษัทมหาชน 30% ของตลาดก็เป็นทุนต่างชาติ (จาก SET) และ 36% ของตลาดก็อยู่ในมือคนไทยเพียง 500 คน ประเทศไทยมีวิกฤติด้านโครงสร้างเป็นฉากหลังของวิกฤติโรคระบาด ถ้าไม่แก้ที่โครงสร้างจะช่วยเหลือสภาพคล่องอีกกี่แสนล้านบาทก็คงเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำละลายหายไป

ในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ สิ่งที่ประชาชนต้องการคือความเชื่อมั่นผู้นำประเทศ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมี ความโปร่งใส เปิดเผย ตอบสนองรวดเร็ว แม่นยำ ต้องรู้สถานการณ์ของตนเองเป็นอย่างดี มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานเป็นอย่างดี และต้องคาดการณ์ไปข้างหน้าได้ ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ส่งออกไปถึงประชาชนต้องชัดเจนไม่สร้างความสับสนหรือคลางแคลงใจ แต่ถ้าเกิดการกระทำในทิศทางตรงข้าม ปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างคลุมเครือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ความโกลาหลและการเปิดช่องให้ ‘นักฉวยโอกาส’ เข้ามาฉกฉวยผลประโยชน์ และยิ่งทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น

ผมจึงขอรวบรวมข้อเสนอที่น่าสนใจเพื่อแก้ไขวิกฤติครั้งนี้ โดยหวังว่าจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย

1.การเข้าถึงบริการตรวจวินัจฉัยโรค COVID-19 ที่เป็นเรื่องใกล้ตัวเข้าทุกวัน แต่ค่าตรวจมีราคาสูงจึงทำให้คนเข้าถึงการตรวจได้น้อย ถ้าเทียบจำนวนกับประเทศอื่นๆ ไทยมีตัวเลขการส่งตรวจที่ต่ำมาก จึงทำให้ตัวเลขอย่างเป็นทางการประกาศว่าผู้ติดเชื้อในประเทศไทยมีจำนวนดูน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ในตอนที่พบผู้ติดเชื้อกว่า 7,000 กรณี ในขณะนั้นพวกเขามีการตรวจไปทั้งหมดกว่า 200,000 รายแล้ว แต่ประเทศไทยยังตรวจเพียงไม่กี่พันรายเท่านั้น จึงทำให้ตัวเลขทางการของผู้ติดเชื้อมีไม่ถึงหนึ่งร้อย ดังนั้น หากรัฐบาลสามารถจัดสรรให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยโรคได้มากกว่านี้ มีความเป็นไปได้ที่จะพบตัวเลขมากขึ้นกว่านี้มหาศาล ใช่หรือไม่

ข้อมูลการระบาดเป็นเรื่องสำคัญต้องเปิดเผย และต้องเป็นข้อมูลที่ตรงตามความจริง เพื่อที่จะสามารถควบคุมโรคได้ โดยเฉพาะการกระจายข้อมูลนี้ไปสู่บุคลากรทางด้านการแพทย์ทั่วประเทศ ในทางกลับกัน การไม่เปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาส่งผลให้การเฝ้าระวังและควบคุมโรค(ซึ่งต้องใช้ข้อมูลทางระบาดวิทยา) มีประสิทธิภาพลดลง ดังนั้นผมจึงอยากย้ำว่าประชาชนผู้มีอาการหรือใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง ต้องเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยโรค COVID-19 ได้มากกว่านี้ และทุกคนต้องได้รับข้อมูลที่โปร่งใส แม่นยำ เชื่อถือได้

2.วิกฤติ COVID-19 นั้นส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลกในหลายด้าน เช่น ภาคการท่องเที่ยว ภาคธุรกิจ การลงทุน และการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน ฯลฯ ดังนั้นทุกหน่วยงานจะต้องทำงานกันอย่างบูรณาการเพื่อออกมาตรการชดเชย เยียวยา แก้ไขปัญหา ให้ครอบคลุมทุกด้านแต่ต้องไม่ทับซ้อนกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน สัปดาห์นี้ได้มีการแถลงข่าวภายหลังการประชุม ครม. และมีการแถลงมาตรการเศรษฐกิจเบื้องต้น โดยส่วนใหญ่แจ้งว่ายังอยู่ในขั้นตอนการหารือและมีรายละเอียดออกมาเพิ่มเติม เมื่อได้รายละเอียดที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ จะมีการเขียนเจาะลึกถึงประเด็นนี้อีกครั้ง

3.การบริหารจัดการหน้ากากอนามัยมีตัวอย่างที่ดีจากหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ตัวอย่างจากสิงคโปร์ เขาแจกหน้ากากให้ประชาชนพร้อมทั้งมีการเขียนคำแนะนำว่าควรใช้เมื่อมีอาการป่วยเท่านั้น ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) ผลที่ได้คือประชาชนอุ่นใจว่ามีหน้ากากให้ใช้เมื่อยามที่มีอาการป่วย และยังลดอุปสงค์ภาคประชาชนได้ ทำให้หน้ากากอนามัยมีเพียงพอต่อความต้องการทุกคน อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการเฉพาะหน้า ต้องจัดหาอุปกรณ์ป้องกันให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงผู้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงได้รับเชื้อให้พวกเขาเหล่านี้ได้ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่และด้วยความมั่นใจ รวมถึงการออกมาเคลียร์ปัญหาการกักตุนหน้ากาก การส่งออกต่างๆ ที่ขณะนี้แต่ละแหล่งข่าวยังให้ข้อมูลไม่ตรงกัน

4.การกักตัวเพื่อดูอาการ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยไม่มีการปิดกั้นเที่ยวบินที่มีความเสี่ยงเลย รัฐบาลควรเริ่มมีกระบวนการจัดใช้มาตรการกักตัวอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนสัญชาติอะไร ไม่ว่าจะเป็นแรงงานผิดกฎหมายหรือจะเป็น ส.ส. ผู้ทรงเกียรติ หากเดินทางมาจากพื้นที่แพร่ระบาดต้องใช้มาตรการเหมือนกัน จึงจะลบคำครหาได้

5.กรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดที่จะตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อพยุงตลาดหุ้น เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะใช้ทรัพยากรเดียวกันใช้จ่ายเพื่อพลิกโฉมโครงสร้างเศรษฐกิจไทย หยิบคว้าโอกาสของประเทศไทยในเศรษฐกิจสำหรับโลกอนาคต เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะใช้ทรัพยากรเดียวกันนี้มาสร้างอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการแพทย์ สร้างอุตสาหกรรมสาธารณสุข ให้มีความทันสมัย เป็นผู้นำของโลก เป็นอุตสาหกรรมบริการที่สอดคล้องกับ Competitive Advantage ของไทย คำตอบคือประเทศของเราทำได้ ในทุกวันนี้ประเทศไทยลงทุนวิจัยด้านการแพทย์ปีละ 8,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.06% ของ GDP (ข้อมูลจาก WHO) ซึ่งผ่านเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกเพียงเล็กน้อย ถ้าเราหยิบเงินออกมาจากมาตรการเฟส 1 ที่จะปล่อยกู้ 1.5 แสนล้านบาทเพียงเสี้ยวเดียว มาเพิ่มเงินลงทุนวิจัยทางการแพทย์อีกเท่าตัว เพิ่มอีก 8,000 ล้านบาท เราก็จะมีสัดส่วนเงินวิจัยทางการแพทย์เท่ากับมาเลเซีย และมูลค่าเพิ่มที่จะเกิดขึ้นก็จะทวีคุณได้อีกมากมาย โดยไม่ได้กระทบต่อมาตรการรักษาสภาพคล่องเลยแม้แต่น้อย

พวกเรากำลังเผชิญกับวิกฤติรอบด้าน วิกฤติที่แสดงให้เห็นแล้วว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันไม่มีศักยภาพที่จะนำพาประเทศให้เดินต่อไปได้ ซ้ำยังจะพาคนทั้งชาติลงเหว แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะรับมือ แต่หลายประเทศพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เมื่อใดที่พวกเขามีรัฐบาลที่มีความสามารถในการบริหารจัดการ เมื่อใดที่รัฐบาลของพวกเขาจัดลำดับความสำคัญได้ถูกต้อง จัดคนไปทำได้ถูกงาน เมื่อนั้นประเทศจะก้าวผ่านปัญหาต่างๆ ไปได้ด้วยดี.