‘ปานเทพ’ ชี้ 4 มาตรการที่ กทม.ยังมีจุดอ่อน

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลังรังสิต โพสต์เฟซบุ๊กโดยมีรายละเอียดดังนี้

มาตรการที่ กทม.ยังมีจุดอ่อนครับ

1.ปิดโดยไม่มีมาตรการชดเชยความเสียหายในทางธุรกิจตามมา ตามข้อเสนอของภาคประชาชน (เช่น งบประมาณ ภาษี เงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ ฯลฯ) คนเล็กคนน้อยจะต้องเดือดร้อน คนเหล่านี้จะดำรงชีพอยู่อย่างไร? (มีสิทธิกลับไปต่างจังหวัดไปแพร่เชื้อต่ออีก) โดยเฉพาะเกิดเงื่อนไขข้อที่ 2

2.ปิดไม่หมด คนปิดจะเดือดร้อนหนัก เพราะอาจต้องปิดยาวกว่าที่คิด เพราะส่วนที่เปิด เช่น ส่วนราชการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรับมือโควิด-19 ยังมีโอกาสแพร่เชื้อต่อไป สำนักงานทางธุรกิจหลายแห่งยังมีความเสี่ยงในการระบาดต่อไป การที่ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแม้นส่วนที่เปิดทำธุรกิจอยู่ก็เสียหายหนักอยู่ดี ต่างชาติไม่เข้ามา คนออกนอกบ้านน้อยลง หากยืดเยื้อจะเสียหายต่อทุกฝ่ายทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการระบาดของโรค

ซึ่งความจริงควรประกาศให้เป็นวันหยุดทั้งหมด (ยกเว้นส่วนราชการสำหรับการรับมือกับ โควิด-19)

3.ไม่เพียงเรื่องมาตรการเท่านั้น แต่การบังคับใช้กฎหมาย ยังสำคัญมาก เช่นกัน เช่น บ่อนเถื่อน บ่อนไก่ชนเถื่อน ฯลฯ

4.รัฐยังไม่ได้มีมาตรการชัดเจนรองรับว่า เมื่อประชาชนกักตัวอยู่ที่บ้านแล้วต้องทำอย่างไร เจ็บป่วยแล้วทำอย่างไร ตรวจเชื้ออย่างไร กักตัวแบบไหน บำบัดอย่างไร ติดตามผลอย่างไร และส่งโรงพยาบาลเมื่อใด รัฐควรเร่งดำเนินการจัดทำการถ่ายทอดสดรวมการเฉพาะกิจ และจัดทีมปรึกษาคนไข้ผ่านสื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ คอลเซ็นเตอร์ โดยด่วน !!!

เรื่องนี้แม้นเป็นเจตนาที่ดีของ กทม. แต่เรื่องดังกล่าวนี้ต้องการทำครั้งเดียวเจ็บเพื่อให้จบ ไม่เช่นนั้นคนที่ถูกเลือกให้ปิด หรือคนที่ปิดเองโดยสมัครใจ จะเดือดร้อนและเสียหายยาวจนถึงขั้นปิดกิจการ หรือตกงานได้เลย ดังนั้นจึงต้องอาศัยอำนาจรัฐบาลสั่งการให้เป็นเอกภาพเท่านั้นครับ

ขอย้ำหากจะปิดให้สั้นที่สุด มาตรการต้องเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวมากที่สุด ที่มาพร้อมกับมาตรการเยียวยา ต้องทำให้ครบ ทำครึ่งๆกลางๆไม่ได้ครับ

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์