เกาะติดไข่แพง ‘โรม’ จี้กลุ่มทุนอาหารสัตว์ต้องเสียสละ ไม่งั้นประชาชนจะลำบาก

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์เฟซบุ๊กโดยมีรายละเอียดดังนี้

ตามกันต่อเรื่องไข่ไก่ เสนอกลุ่มทุนอาหารสัตว์ต้องเสียสละ ไม่งั้นประชาชนจะลำบาก

จากการที่ผมได้ลงพื้นที่ติดตามกรณีการจับกุมแม่ค้าขายไข่ไก่รายย่อยที่ จ.นครสวรรค์ เมื่อสัปดาห์ก่อนจนพบว่าราคาไข่ไก่นั้นแพงขึ้นจริง ตั้งแต่ต้นทุนในกระบวนการผลิตและผันผวนตามจำนวนแม่ไก่ที่ถูกปรับลดลงทั้งประเทศอันเป็นผลมาจากราคาไข่ไก่ตกต่ำในปีก่อนหน้านี้

วันนี้ผมจึงขอนำข้อมูล มาสรุปเพื่อทำความเข้าใจง่ายๆ ดังนี้

  1. ไข่ไก่ในประเทศไทย มาจากแม่ไก่ที่มี 16 บริษัทนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ นำมาเลี้ยงแล้วขายพันธุ์ต่อให้เกษตรกร โดยช่วงต้นปีที่ผ่านมามีการลดจำนวนโควตาแม่พันธุ์ในแต่ละรายเพื่อช่วยเกษตรกร ให้ราคาไข่ไก่ในประเทศดีขึ้น
  2. แม่ไก่ 1 ตัว จะผลิตไข่ 361 ฟองต่อปี กำหนดปลดอายุที่ 80 สัปดาห์ แต่ในขณะนี้บอร์ดไข่ไก่ออกนโยบายยืดอายุปลดไป เนื่องจากประชาชนมีความต้องการมากขึ้นจึงเป็นการเพิ่มปริมาณไข่ไก่ที่คาดว่าจะต้องได้ไม่ต่ำกว่าอีก 2 ล้านฟองต่อวัน จากเดิมผลิตได้ 41 ล้านฟองต่อวัน เมื่อนำมารวมกันแล้วจะมีปริมาณที่ผลิตได้อยู่ที่ 43 ล้านฟองต่อวัน จากปกติแล้วโดยเฉลี่ยคนไทยบริโภคไข่ไก่ 39 ล้านฟองต่อวัน ร่วมกับมาตรการระงับการส่งออกไข่ไกก่ในขณะนี้
  3. รองอธิบดีกรมปศุสัตว์หรือมิสเตอร์ไก่ไข่ ยืนยันว่าการบริหารจัดแผนสมดุลไข่ไก่ประสบความสำเร็จในรอบ 2-3 ปี ถึงแม้ว่าจะมีสวิงขึ้นลงบ้างแต่ไม่มาก ถึงแม้จะมีเหตุการณ์นี้ก็แก้ไขไม่ยาก ด้วยการใช้วิธียืดการปลดอายุไก่ แต่ถ้าเป็นไข่ไก่ล้น จะแก้ยากและใช้เวลานานมากกว่าด้วย
  4. นายกสมาคมการค้าผู้ค้าไข่ไทย และประธานกลุ่มผู้ค้าไข่ไทย ยอมรับว่ามีไข่ไก่ ถูกแอบออกไปทางหลังฟาร์ม มีรถปิคอัพมาซื้อ เพราะคนตระหนกอยากจะซื้อไข่ไก่ไปรับประทานก็ซื้อ แล้วอีกด้านฟาร์มเห็นราคาที่ดีกว่าก็ขายตามราคานั้น ราคาไข่ที่แอบขายกันจะแพงกว่าราคาควบคุม
  5. ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์กำหนดราคาไข่คละหน้าฟาร์มที่ฟองละ 2.80 บาท จะเป็นตัวตั้งไว้บวกด้วยค่าใช่จ่าย 1.ค่าขนส่งจากฟาร์ม 2.ค่าคัดเกรด ( รวมค่าเสียหาย ) 3. ค่าน้ำค่าไฟ 4. ค่าแรงงาน 5. บวกด้วยกำไร ฉะนั้น 1+2+3+4+5 เท่ากับ 10 สตางค์ +10 สตางค์+.5 สตางค์ +5 สตางค์+10 สตางค์ ดังนั้น ยกตัวอย่างเช่น ไข่เบอร์ 3 ราคาส่งจะอยู่ที่ 3.20 บาท ต่อฟอง ส่วนราคาขายปลีกก็อาจจะยวกไปอีก 30 สตางค์ถึง 50 สตางค์ ราคาขายปลีก เบอร์ 3 ราคา 3.50-3.70 บาทต่อฟอง, เบอร์ 2 ราคา 3.60-3.80 บาทต่อฟอง ,เบอร์1 ราคา 3.70-3.90 บาทต่อฟอง และเบอร์ 0 ราคา 4.00-4.10 บาทต่อฟอง
  6. เว็บไซต์กรมการค้าภายใน ระบุราคาขายปลีกไข่ไก่เบอร์ 3 ที่ราคาฟองละ 3.50 – 3.60 (30 มีนาคม 2563 )
    แต่เอาเข้าจริงแล้วการที่ไข่ไก่แพง ก็ใช่ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์ อิงตามข้อมูลที่ไบโอไท รายงานว่า 65% ของไข่ไก่ทั้งหมดในประเทศไทย ถูกผลิตจากฟาร์มขนาดใหญ่ และ 85% ของต้นทุนในการผลิตไข่คือค่าอาหารและค่าแม่พันธ์ซึ่งถูกกำหนดโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่
  7. แม้ว่ากรมการค้าภายใน หรือกระทรวงพาณิชย์จะพยายามใช้มาตรการต่าง ๆ ในการควบคุม แต่ผู้บริโภคอาจจะทราบกันดีว่า ราคาไข่ไก่ในห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ นั้นแพงกว่าราคาที่เว็บไซต์ของทางราชการรายงาน และแน่นอนผมยังยืนยันว่าการจับกุม แม่ค้าพ่อค้ารายย่อยไม่ได้ทำให้ราคาไข่ถูกลง

โดยสรุปผมคิดว่า รัฐบาลต้องมีมาตรการ ในการทำให้สิ่งค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานมีราคาที่เหมาะสม เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ในเมื่อประชาชนทราบดีว่าเราจำเป็นต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ มาหาซื้ออาหารเช่นไข่ไก่มาเก็บไว้่จึงไม่ใช่การกักตุนที่จะโยนความรับผิดชอบให้ประชาชน รัฐบาลมีหน้าที่ต้องลดค่าครองชีพให้ถูกลงด้วยในช่วงวิกฤตินี้

ในขณะเดียวกัน บริษัทขนาดใหญ่อาจต้องเสียสละ บริษัทเกี่ยวกับอาหารสัตว์มีแค่รายใหญ่ไม่กี่ราย ถ้าบริษัทเหล่านี้เสียสละ ยอมลดราคาค่าอาหารให้ถูกลง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติ โควิด-19 นี้ อาจช่วยลดต้นทุนการผลิตไข่ได้ โดยที่เกษตรกรยังพอได้กำไร และผู้บริโภคซึ่งคือคนไทยทั้งประเทศยังจะได้ประโยชน์ด้วย

ผมยังคงเป็นห่วงการดำเนินการจับกุมพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยของกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากเป็นปลายน้ำของปัญหานี้ ซึ่งถ้ากลับไปย้อนดูเราจะเห็นว่า ไข่เริ่มแพงขึ้นตั้งแต่จำนวนผุ้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ถึง 1,000คน ในอนาคตถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจนส่งผลให้เกิดการล็อคดาวน์ในจังหวัดใหญ่ ยังไงประชาชนก็ต้องซื้อไข่มาเก็บไว้ ดังนั้นการแก้ที่ภาพใหญ่ในเชิงนโยบายเร่งด่วน การเสียสละของกลุ่มทุนน่าจะพอช่วยประชาชนในวิกฤติเรื่องไข่ตอนนี้ได้ครับ.