การเยียวยา ‘โควิด-19’ รัฐบาลต้องไม่เลือกปฏิบัติ ประชาชน ต้องมีสิทธิเสมอกัน

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “การเยียวยา โควิด-19” รัฐบาลต้องไม่เลือกปฏิบัติ ประชาชน ต้องมีสิทธิเสมอกัน” เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2563 โดยมีรายละเอียดดังนี้

ตามที่โฆษกรัฐบาล แถลงมติที่ประชุมครม.วันที่ 31 มี.ค.63 ว่า ครม.เห็นชอบให้ขยายกลุ่มเป้าหมายจาก 3 ล้านคน เป็น 9 ล้านคน

โดยเยียวยาให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระ และลูกจ้างที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ที่ตกงานอันเนื่องมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค โควิด-19 จะได้รับเงินเยียวยาเป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งได้มีผู้ลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์ที่ตั้งไว้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคมจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 มีจำนวนผู้ลงทะเบียนได้พุ่งไปกว่า 22 ล้านคน ในขณะที่ยอดผู้ลงทะเบียนน่าจะยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ

การที่รัฐกำหนดเป็นโควตาเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบเหลือ 9 ล้านคน ส่งผลให้ผู้ลงทะเบียนจำนวนมากจำนวน 13 ล้านคน หรือ มากกว่านั้น จะต้องถูกตัดสินให้ไม่ได้รับเงินเยียวยาจำนวนดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมายดังนี้

คำถามที่ 1.ทำไมรัฐจึงต้องกำหนดโควตาผู้ที่ได้รับเงินเยียวยาไว้ที่ 9 ล้านคน? ทำไมไม่ให้เงินเยียวยากับผู้ลงทะเบียนทุกคนที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ?

คำถามที่ 2.รัฐกำหนดเกณฑ์ช่วยเหลือเยียวยา คือ ผู้มีคุณสมบัติต้องมีสัญชาติไทย และอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยประกอบอาชีพแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว หรืออาชีพอิสระ โดยพวกเค้าเหล่านี้จะต้องไม่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 และ เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรค โควิด-19

ซึ่งการกำหนดเกณฑ์และคุณสมบัติผู้มีสิทธิ ได้รับอนุมัติจาก ครม ที่ได้ประกาศและให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2563 แล้ว จนมีผู้ลงทะเบียนถึงวันที่ 31 มีนาคม มากถึง 22 ล้านคน เมื่อรัฐบาลได้ทราบจำนวนผู้เดือดร้อนและลงทะเบียนมากถึง 22 ล้านคนอยู่แล้ว ทำไมจึงมีมติ ครม.อนุมัติให้เยียวยาเพียง 9 ล้านคน?

คำถามที่ 3. รัฐบาลได้ให้ธนาคารกรุงไทยนำระบบ AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาใช้ในการคัดกรองคุณสมบัติผู้ลงทะเบียน ซึ่งอ้างว่าความถูกต้องแม่นยำสูงนั้น จะเชื่อถือได้อย่างไร?

หากมีการใช้ AI ในการคัดกรองเหตุใดจึงต้องให้ประชาชนเข้ามาลงทะเบียนเป็นจำนวนมากจนเว็บล่ม เพราะรัฐมีข้อมูลพื้นฐานทุกอย่าง โดยแทบไม่ต้องการข้อมูลอื่นใดเพิ่มเติม ทั้งนี้รัฐควรเปิดเผยหลักการ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อความโปร่งใส และตรวจสอบได้ต่อไป

คำถามที่ 4 รัฐกำหนดโควต้าที่เป็นนโยบายผ่านมติ ครม ทั้งที่มีผู้ได้รับผลกระทบเข้าเกณฑ์และมาตรการมากกว่าที่รัฐกำหนดกรณีจะเป็นการลดทอนสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค คุณค่า และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่

การที่รัฐตัดสินใช้ พรก. ฉุกเฉินเพื่อต่อสู้กับ โรค ‘โควิด19’ ชี้ให้เห็นว่ารัฐมีการไตร่ตรองว่ามาตราการสาธารณสุขที่แข็งกร้าวนั้นสามารถที่จะป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายได้ ตามหลักคิดที่ว่า “การมีชีวิตอยู่รอดสำคัญว่าสิ่งใด” แม้จะยังไม่สามารถบอกว่าต้องใช้เวลานานเท่าไร จึงสำเร็จก็ตาม

แต่ที่รัฐทราบชัดเจนคือการตัดสินใจใช้มาตราการดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนความทุกข์ยากของประชาชนที่กว้างใหญ่ที่เกิดกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมและวิถีชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในกรณีที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ การตกงานและขาดรายได้นั้น ในประเทศไทยมีประชาชนที่อยู่ในวัยทำงานจำนวนกว่ามากกว่า 30 ล้านคนทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มีประชาชนเพียง 10 ล้านคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม (ซึ่งได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงาน) ที่เดือดร้อนมากที่สุด และประชาชนอีกกว่า 15 ล้านคน ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และ การบริการอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม โรคโควิด-19 และการตัดสินใจของรัฐบาลจึงมีผู้ได้รับผลกระทบตามความเป็นจริงจำนวนมากมายที่รัฐต้องช่วยเหลือเยียวยาอย่างไม่เลือกปฏิบัติ

ในต่างประเทศ วิธีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคโควิด ก็คือ การนำหลัก ‘รัฐสวัสดิการ’ มาใช้ กล่าวคือ ‘สวัสดิการ’ เป็น ‘สิทธิ’ ที่รัฐต้องจัดให้เสมอกัน แรงงานที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ โควิด-19 ทุกคน ทั้งที่อยู่ในระบบประกันสังคมและไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมต้องได้รับการชดเชยรายได้จากผลกระทบของมาตรการรัฐเหมือนกันหมดทุกคน รัฐไม่มีการคัดกรองหรือจำกัดสิทธิผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด เช่น ภาคประชาชนเยอรมนีร่วมลงชื่อ กว่า 4 แสนคน สนับสนุนให้ประเทศเยอรมันมอบเงินเดือนให้เปล่า เดือนละ 40,000 บาทถ้วนหน้า เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยจำนวนเงินนี้เป็นเงินเพิ่มเติมจากเงินประกันการว่างงาน เงินชดเชยนี้คิดเป็นร้อยละ 50 ของค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นต้น

กรณีเรื่องงบประมาณในเบื้องต้นควรพิจารณาจากงบประมาณปี พ.ศ. 2563 ก่อนเพื่อโอนไปใช้ในภารกิจต่อสู้กับโควิด 19 ที่ถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติก่อน หากไม่พอก็กู้เงินมาใช้เพิ่มได้ กรณีการโอนงบประมาณปี 2563 นั้น ตาม พรบ วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 มาตรา 35 และ 36 สามารถกระทำได้ ที่เห็นเบื้องต้นว่าโอนแล้วมีผลกระทบไม่มากนัก คือ งบบูรณาการบางส่วนที่ตั้งไว้ 2.3 แสนล้านบาท และงบตามยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงบางส่วนที่ตั้งไว้ 4.2 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ยังพบว่าผลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ในระบบการบริหารงานการเงินการคลังภาครัฐ ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์(Government Fiscal Management Information System) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า GFMIS ยังมีงบประมาณที่ไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ทัน เมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 141,653 รายการ เป็นเงิน 978,511 ล้านบาทเศษ หากใช้ไม่ทันก็สามารถนำไปใช้ดำเนินงานช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากโรคโควิดได้ และยังมีงบประมาณการฝึกอบรมสัมมนาที่ตั้งไว้ถึง 30,000 ล้านบาท เมื่อใช้ พรก ฉุกเฉิน ได้ห้ามรวมตัวกัน จึงไม่สามารถจัดประชุมอะไรในช่วงนี้ได้อยู่แล้ว ซึ่งงบที่กล่าวข้างต้นไม่มีผลกระทบต่อเงินเดือนของข้าราชการและสวัสดิการต่างๆแต่อย่างใด

พรรคฝ่ายค้านได้ประกาศพร้อมร่วมมือรัฐบาลหากต้องประชุมผ่านเป็นกฏหมาย เพื่อนำมาใช้ในการแก้วิกฤติโควิด -19 และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจจากโรคนี้ ตามความเป็นจริงได้