‘ศรีสุวรรณ’ ขวาง กทท. เดินหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 พร้อมด้วย ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) และผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F โดยพยายามที่จะผลักดันให้มีการดำเนินการเจรจาผลตอบแทนและร่างสัญญากับ กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC (ประกอบด้วย บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และ China Harbour Engineering Commpany Limited) ทั้ง ๆ ที่ข้อพิพาทในศาลปกครองยังไม่ถึงที่สุดนั้น เป็นประเด็นที่ กทท.ต้องตอบคำถามต่อสังคมให้ได้ก่อนว่า เร่งเดินหน้าโครงการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ใครเป็นการเฉพาะหรือไม่ และอาจทำให้ประเทศชาติเสียหายหรือไม่

ทั้งนี้แม้ข้ออ้างของ กทท.ที่ว่าศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นตัดสินให้คำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการคัดเลือกฯชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นเพียงคำสั่งตามคำขอให้ระงับคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของศาลปกครองชั้นต้นไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยอุทธรณ์ของศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น หาใช่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแต่อย่างใดไม่ ซึ่งข้อพิพาทดังกล่าวยังอยู่ในการพิจารณาวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ยังไม่มีคำพิพากษาออกมาแต่อย่างใด ซึ่ง กทท.ต้องพึงสังวรณ์ไว้ว่าคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 1737/2562 เมื่อ 27 ก.ย.62 นั้นคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 แพ้คดีต่อกลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ที่พิพากษาว่า มติของคณะกรรมการฯที่ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 นั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้นการที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะดำเนินการเจรจาผลตอบแทนและร่างสัญญากับ กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ที่เป็นผู้ยื่นข้อเสนออีกหนึ่งรายที่เหลืออยู่โดยไม่รอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดนั้น เป็นความเสี่ยงที่อาจก่อความเสียหายอันอาจกลายเป็น “ค่าโง่” ขึ้นมาได้และจะทำให้มีการฟ้องร้องกันต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ประเทศชาติจะเสียหาย เหมือนหลายๆโครงการของรัฐที่ผ่านมา และเป็นที่น่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอผลตอบแทนให้กับรัฐของทั้ง 2 กลุ่มกิจการร่วมค้ามีผลแตกต่างกันกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท แต่ทำไมคณะกรรมการคัดเลือกฯจึงพยายามที่จะเลือกกลุ่มกิจการร่วมค้าที่ให้ผลตอบแทนรัฐที่ต่ำกว่าราคากลางอย่างมาก ทั้งๆที่คณะกรรมการฯมีอำนาจยกเลิกการประมูลได้หากไม่มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ซึ่งเรื่องนี้หากคณะกรรมการคัดเลือกยังเดินหน้าทำสัญญากับเอกชนโดยไม่รอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด สมาคมฯจะนำความไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.และฟ้องคดีต่อศาลทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป