นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ค้าน ‘บิ๊กป้อม’ ปิดป่า ชี้แก้ปัญหาไฟป่าไม่ได้ ตราบใดที่ชุมชนไม่มีส่วนร่วม

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยเมื่อ 12 เม.ย. 2563 ว่า ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พร้อมคณะ ได้เดินทางไป จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามรับทราบความคืบหน้าการแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ณ ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก และมีการเผยแพร่ทางสื่อมวลชนระบุว่าได้มีการรายงานถึงสาเหตุของไฟป่าว่าเพราะยังมีการเผาพืชไร่และการเผาป่าจากการเข้าไปหาของป่า และพล.อ.ประวิตร ได้กล่าวเน้นย้ำกับข้าราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า หากคุมไม่ได้ เกิดปัญหาซ้ำซาก สร้างความเดือดร้อนเสียหายเป็นวงกว้างเช่นทุกปี อาจจำเป็นต้องปิดป่าฤดูร้อนก็ต้องทำนั้น

คำพูดดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า วิธีคิดในการมองปัญหาไฟป่าของรองนายกรัฐมนตรีคับแคบเป็นความล้าหลังทางความคิด ที่ชี้ให้เห็นว่าผู้พูดไม่เข้าใจปัญหาของการเกิดไฟป่าและแนวทางแก้ไขที่ถูกต้อง เพราะสาเหตุหลักของการเผาป่าไม่ได้มาจากประชาชนทำกินหรือปลูกพืชไร่ ตามที่มีการสรุปรายงานจากข้าราชการ เพราะไฟป่าส่วนใหญ่เกิดในเขตป่าไม้ เขตป่าอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติฯ แม้ว่ามีประชาชนโดยเฉพาะชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ในชุมชนที่มีที่ดินทำกินทับซ้อนกับป่าอนุรักษ์ แต่ชุมชนมีกฎเกณฑ์และภูมิปัญญาในการจัดการไฟป่า และไม่ใช่ช่วงเวลาของการทำเกษตร ขณะที่การหาของป่า ก็ไม่ได้มีเหตุจำเป็นต้องเผาป่า ขณะที่ไฟป่าที่เกิดขึ้นเกิดจากสาเหตุหลายประการที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการสะสมของเชื้อเพลิง ซึ่งเกิดจากการจัดการไฟป่าที่ไม่มีการจัดการเชื้อเพลิง ทั้งที่ป่าหลายประเภท เช่น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง จำเป็นต้องมีไฟป่า นอกจากนั้น การเผาป่ายังมีเบื้องหลังที่ซับซ้อนและมีมิติทางการเมืองด้วย เช่น ไฟป่าเกี่ยวข้องกับงบประมาณ เป็นต้น

ในทางกลับกัน ขณะที่เกิดปัญหาไฟป่าทั่วภาคเหนือ ชาวบ้านหลายร้อยหมู่บ้านได้ช่วยกันป้องกันและดับไฟป่าอย่างเข้มแข็ง จนกระทั่งหลายคนเสียชีวิตจากการช่วยกันดับไฟป่า มีการระดมทุนและการสนับสนุนจากสังคมเพื่อสู้กับไฟป่ามาโดยตลอดนับแต่เกิดเหตุไฟป่าในภาคเหนือ ดังนั้น การชี้นิ้วกล่าวโทษว่าไฟป่ามาจากการเผาพืชไร่และหาของป่า จึงเป็นการลดทอนปัญหาของไฟป่าให้เหลือเพียงประชาชนเป็นแพะรับบาป กลบเกลื่อนความล้มเหลวในการจัดการไฟป่าของรัฐ และเป็นการสร้างวาทกรรมที่ทำให้เกิดคติและไม่ยุติธรรมกับประชาชน โดยเฉพาะชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีพื้นที่ทับซ้อนกับป่าอนุรักษ์ของรัฐ

วิธีคิดดังกล่าวนี้ จะไม่มีทางนำไปสู่การประสบความสำเร็จในการจัดการไฟป่าได้ เพราะยิ่งเป็นการแยกคนออกจากป่า การกีดกันไม่ให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการไฟป่า และยังจะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การจัดการไฟป่าที่ถูกต้อง จำเป็นที่จะต้องใช้แนวทางการร่วมมือกันของหลายฝ่าย ทั้งราชการ ชาวบ้านในชุมชน และภาคประชาสังคมมาช่วยกัน ดังนั้นแล้วการคิดปิดป่าฤดูร้อนจะทำไปเพื่ออะไร คิดหรือว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ฝันไปเถอะ.