ยิ่งวิกฤติยิ่งต้องให้รัฐสภาทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชน

นายจาตุรนต์ ฉายแสง นักการเมืองชื่อดัง อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ได้โพสต์เรื่อง “ยิ่งวิกฤติยิ่งต้องให้รัฐสภาทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชน” ลงเฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang โดยมีรายละเอียดเนื้อหาดังนี้

ขณะนี้ประชาชนนับสิบล้านอยู่กันโดยไม่มีรายได้ ไม่มีจะกิน ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้รับเงินเยียวยา

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่กำลังมากขึ้นทุกวัน

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่รุนแรงที่สุดอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน

การรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ต้องใช้มาตรการที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศ ใช้งบประมาณมหาศาล หากทำได้ดีมีประสิทธิภาพก็จะสามารถลดควมเสียหายลงได้ หากล้มเหลวก็จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงเกินจำเป็น

ในท่ามกลางวิกฤตที่ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย การดำเนินนโยบายและมาตรการที่ต้องการตรวจสอบถ่วงดุลเป็นพิเศษ ประเทศไทยกลับเลือกที่จะดำเนินการทุกอย่างไปภายใต้อำนาจของรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารตามลำพัง

การบริหารปกครองบ้านเมืองในขณะนี้จึงไม่ต่างจากการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการ ราวกับว่าเพิ่งมีการรัฐประหารไปหยกๆ
ไม่มีบรรยากาศของการเปิดรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ซ้ำร้ายยังปรากฏการข่มขู่ปิดกั้นการเสนอความคิดเห็นหรือแม้แต่การสะท้อนปัญหา

การเลือกใช้พรก.ฉุกเฉินและการออกพรก.เพื่อใช้มาตรการทางการเงินการคลังในวงเงินมหาศาล เป็นการกันรัฐสภาออกจากวงจรของการตรวจสอบถ่วงดุล

เมื่อรัฐสภาไม่สามารถทำหน้าที่ได้ แม้แต่คณะกรรมาธิการต่างๆเกือบทั้งหมดก็ไม่ทำหน้าที่ อย่าว่าแต่การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลเลย แม้แต่การสะท้อนปัญหา เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนก็เกือบทำไม่ได้เลย

มีวาทกรรมที่ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดและฝ่ายนิติบัญญัติก็ดูจะยังไม่ได้อธิบายโต้แย้ง เช่น เวลานี้ไม่ใช่เวลาเล่นการเมือง ปล่อยให้รัฐบาลทำงานเถอะ อย่าดีแต่พูดไปลงมือทำเถอะ อยู่ระหว่างใช้พรก.ฉุกเฉินประชุมไม่ได้

ทั้งๆที่การวิพากษ์วิจารณ์หรือเสนอความเห็นของผู้แทนราษฏรคือการทำหน้าที่ที่สำคัญและจำเป็น การประชุมต่างๆก็สามารถทำได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ถ้าจะทำ

พรรคร่วมรัฐบาลสะดุดเท้าตัวเองจากการพัวพันกับการทุจริตในงานที่รับผิดชอบจนถูกโดดเดี่ยวออกจากวงจร รัฐมนตรีต้องไปทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติแทนที่จะใช้เวลาดูแลเรื่องนโยบายที่ตนเองรับผิดชอบ ผิดฝาผิดตัวไปหมด

พรรคฝ่ายค้านพยายามเสนอญัตติให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลที่มีแผลกันอยู่ จึงไม่กล้าขัดใจนายกฯ ที่จะเปิดประชุมพิจารณาพรบ.โอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณ และอนุมัติพรก.ก็ดูจะตั้งใจรวบรัดกันอย่างน่าเกลียด

แต่จากประสบการณ์ของประเทศไทยเองในหลายสิบปีที่ผ่านมา เวลามีปัญหาใหญ่ๆเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ฝนแล้ง ภัยพิบัติต่างๆ การเสนอญัตติอภิปรายกันในสภาผู้แทนราษฎร เป็นประโยชน์ต่อประชาชนคือทำให้รัฐบาลรับรู้ปัญหาและกระตือรือร้นมากขึ้นเสมอ การทำงานของคณะกรรมาธิการต่างๆก็สามารถตรวจสอบถ่วงดุลรักษาประโยชน์ของประชาชนได้มาก ยิ่งมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่มีประสิทธิภาพอยู่ในมือฝ่ายค้านด้วย รัฐบาลก็ยิ่งต้องฟังเสียงผู้แทนราษฎร ไม่กล้าออกนอกลู่นอกทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่กล้าปล่อยให้ประชาชนทุกข์ยากเดือดร้อน

รัฐธรรมนูญเองก็ให้ความสำคัญของการตรวจสอบถ่วงดุลของฝ่ายรัฐสภาไว้อย่างมาก การอ้างสถานการณ์ฉุกเฉินมากีดกันการทำหน้าที่ของรัฐสภาเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะแม้แต่การจะประกาศสงคราม รัฐธรรมนูญก็ยังไม่ยกอำนาจให้ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายความมั่นคง แต่กำหนดให้เป็นอำนาจของรัฐสภา

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตที่ใหญ่หลวง จำเป็นต้องให้ทุกฝ่ายในสังคมมีส่วนร่วม การแก้ดำเนินนโยบายต่างๆที่มีผลต่อชีวิตของประชาชนและความอยู่รอดของประเทศชาติ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล

เมื่อมีรัฐธรรมนูญและรัฐสภาแล้ว จึงไม่เป็นเหตุเป็นผลที่จะบริหารกันไปราวกับยังอยู่ในระบอบเผด็จการสมบูรณ์แบบดังเช่นทุกวันนี้ การส่งเสริมให้รัฐสภาได้ทำหน้าที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไม่ต้องสงสัย

ประชาธิปไตยของประเทศไทยนั้น มักต้องล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ในวิกฤตนี้ ไม่ควรปล่อยให้บ้านเมืองถอยหลังไปสู่ระบอบเผด็จการที่ไม่มีทางที่จะรับมือกับวิกฤตและไม่มีทางที่จะรักษาผลประโยชน์ของประชาชนได้ดีเท่ากับการบริหารปกครองที่เป็นประชาธิปไตย