ได้ใจชาวบ้านเต็มๆ ‘ศรีสุวรรณ’ บุกร้อง ‘สตง.’ ตรวจสอบสาเหตุค่าไฟฟ้าแพงจัง

เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2563 เวลา 10.00 น.ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยเปิดเผยว่าตามที่ประชาชนจำนวนมากได้ออกมาเปิดเผยและร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาค่าไฟฟ้าแพงมากในรอบบิลที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นประเด็นปัญหาซ้ำเติมประชาชน ในช่วงที่รัฐบาลรณรงค์ขอร้องให้ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนกระทั่ง รมว.พลังงาน กฟผ. สนพ.และ กกพ.ต้องรีบออกมาแก้หน้าด้วยการเสนอมาตรการเพิ่มเติมในการลดค่าครองชีพให้ประชาชน โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 ที่ผ่านมานั้น

ทั้งนี้ ปัญหาความเดือดร้อนเกี่ยวกับค่าไฟฟ้าแพงนั้นเกิดขึ้นสะสมมานาน ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลมาจากนโยบายที่ผิดพลาด ล้มเหลวของการบริหารจัดการระบบพลังงานไฟฟ้าทั้งระบบของรัฐบาล ตั้งแต่การเจตนาฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญโดยให้ผู้ประกอบการเอกชนมาผลิตไฟฟ้ามากเกินไป ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน มากเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้ใน ม. 56 วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนว่า “โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจําเป็นต่อการดํารงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทําด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทําให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้ และการจัดหรือดําเนินการให้มีสาธารณูปโภค รัฐต้องดูแลมิให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร

ปัจจุบันข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 31 มี.ค.63 ประเทศไทยมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งประเทศรวม 45,595 เมกะวัต์ โดยที่เป็นสัดส่วนที่ กฟผ. ผลิตได้เพียง 15,424 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 33.83 % เท่านั้น ส่วนเอกชนมีปริมาณการผลิตมากถึง 30,171 เมกะวัตต์ หรือ 66.17 % ขณะที่ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าของทั้งประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 28,338 เมกะวัตต์เท่านั้น (สถิติการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดเมื่อปี 2562 มีสูงเพียง 32,272 เมกะวัตต์เท่านั้น) ทำให้มีไฟฟ้าสำรองมากเกินจำเป็น ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนต้องร่วมรับผิดชอบผ่านค่า FT นั่นเอง

นอกจากนั้นยังมีกรณีที่เป็นข้อสงสัยของประชาชนมาโดยตลอดเกี่ยวกับการใช้อำนาจในการเอื้อประโยชน์กันของหน่วยงาน และการทุจริตคอรัปชั่น อาทิ 1)การจัดซื้อจัดหาครุภัณฑ์ที่มีราคาแพงกว่าท้องตลาดกว่า 10 เท่า ทำให้เป็นภาระต้นทุนของหน่วยงาน และถูกผลักภาระไปให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนร่วมรับผิดชอบใช่หรือไม่ 2)มีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้พนักงานของการไฟฟ้าสามารถใช้ไฟฟ้าในบ้านอาศัยของพนักงานแต่ละคนฟรี โดยการกำหนดเพดานไว้แตกต่างกัน ตามตำแหน่งเล็ก กลาง ใหญ่ หากเดือนใดมีการใช้ไฟฟ้าไม่ถึงเพดานที่กำหนด ก็นำส่วนที่เหลือไปรับเป็นค่าตอบแทนได้ ใช่หรือไม่ 3)มีการออกระเบียบและหรือหลักเกณ์ในการจ่ายค่าตอบแทนรายปี (เงินโบนัส) ให้กับพนังานการไฟฟ้าทั้งสาม ในอัตราที่สูงกว่าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นใช่หรือไม่ และ4)มีการใช้เล่ห์เหลี่ยมในออกปฏิบัติหน้าที่ในการซ่อมบำรุง หรือขยายงานระบบ และอื่น ๆ ในช่วงคาบเกี่ยวกับการหมดเวลาการปฏิบัติงาน เพื่อหวังเงินค่าตอบแทนนอกเวลา (เงินโอที) ใช่หรือไม่

กรณีดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ราคาค่าไฟฟ้าที่ถูกโขกสับในราคาแพงทุกวันนี้ต้นเหตุหนึ่งคือ นโยบายที่ผิดพลาด และการจัดซื้อจัดหาครุภัณฑ์ที่มีราคาแพงกว่าปกติ และการเอื้อประโยชน์กันของพนักงานเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้า ซึ่งกลายเป็นต้นทุนก้อนโต ที่สุดท้ายจะถูกนำไปรวมเป็นค่าต้นทุนการผลิตและบริการของการไฟฟ้า และถูกนำไปรวมเป็นค่า FT มาดูดเงินในกระเป๋าประชาชนทุกครัวเรือนทุกเดือน แม้คณะรัฐมนตรีจะมีนโยบายลดค่าไฟฟ้าในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นเวลา 3 เดือน ก็หาได้ช่วยแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงต้องนำความพร้อมพยานหลักฐานมาร้องเรียนขอให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่เพื่อนำไปสู่การยับยั้งและเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป