‘ศรีสุวรรณ’ จ่อร้อง ‘สตง.’ สอบหน้ากากผ้า ‘สุริยะ’ คุ้มค่าหรือไม่

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยเมื่อ 29 เม.ย.2563 ว่า ตามที่จากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาเปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 มี.ค.2563 เห็นชอบให้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย งบกลาง จำนวน 65 ล้านบาท ให้กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อผลิตหน้ากากผ้าและแจกจ่ายให้ประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงพื้นที่เสี่ยงอื่น จำนวน 10 ล้านชิ้น เพิ่มเติมจากที่กระทรวงมหาดไทยได้รับมอบหมายให้ผลิตหน้ากากสำหรับแจกจ่ายให้ประชาชนในส่วนภูมิภาค จำนวน 50 ล้านชิ้น เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย และป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น

แต่ปรากฎว่าหน้ากากผ้าที่แจกจ่ายให้ประชาชนจริงผ่านไปรษณีย์นั้นกลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหู ทั้งเรื่องจำนวนที่แจกแค่ครอบครัวละ 1 ชิ้น และคุณภาพหน้ากาก ซึ่งรองศาสตราจารย์วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปิดเผยว่าหน้ากากที่นำมาแจกให้ประชาชนนั้น ไม่ตรงคุณสมบัติที่กระทรวงกำหนด เพราะไม่มีลวดล็อกตรงจมูกตามที่กำหนด และเมื่อทดลองเทน้ำลงบนหน้ากากผ้า น้ำก็รั่วซึมทันที สวนทางกับคุณสมบัติที่แจ้งไว้ข้างบรรจุภัณฑ์ และยังได้ทดลองเปรียบเทียบกับหน้ากากอนามัยที่ขายในร้านขายยา ให้เห็นถึงความแตกต่างเรื่องการกันน้ำอย่างชัดเจน สุดท้ายจึงได้ผลการประเมินว่า หน้ากากอนามัยของกระทรวงอุตสาหกรรม ยังไม่ผ่านมาตรฐานหน้ากากที่ใช้ป้องกันเชื้อโรค

ดังนั้นจึงเป็นคำถามของคนในสังคมว่าเมื่อหน้ากากไม่ผ่านมาตรฐานป้องกันเชื้อโรคไม่ได้เอามาแจกให้ประชาชนทำไม และการใช้จ่ายงบประมาณ 65 ลบ.มีประสิทธิผลและคุ้มค่าหรือไม่ จากข้อมูลการดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการผลิตและจัดส่งหน้ากากผ้า 10 ล้านชิ้นนั้นแจ้งว่าส่งไปยังบ้านเรือนประชาชนตามบ้าน 5.6 ล้านชิ้น จำนวน 3,050,000 ครัวเรือน / อีก 4.4 ล้านชิ้น ส่งตามหน่วยงาน ซึ่งหากประเมินค่าใช้จ่ายเป็นค่าผลิตหน้ากากผ้า 10 ล้านชิ้นๆละ 2.5 บาท 25 ล้านบาท ค่าซองน้ำตาลจดหมาย 3,050,000 ซองๆละ 0.50 บาท รวม 1,525,000 บาท ค่าซองพลาสติก 3,050,000 ซองๆละ 0.25 บาท รวม 762,500 บาท ค่าส่งจดหมาย 3,050,000 ชิ้นๆละ 2.25 บาท รวม 6,862,500 บาท รวมทั้งหมดประมาณ 34 ล้านบาท แล้วอีก 30 กว่าล้านบาทหายไปเข้ากระเป๋าใครหรือไม่ อย่างไร

ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะนำความไปร้องเรียนต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในวัน พฤ ที่ 30 เม.ย.63 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซ.อารีย์ พญาไท กทม. เพื่อให้ใช้อำนาจตามกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบว่าการใช้จ่ายงบประมาณ 65 ลบ.มีประสิทธิผลและคุ้มค่าหรือไม่ หากพบการกระทำที่ส่อไปในทางมิชอบให้กำเนินการเอาผิดตามครรลองของกฎหมายต่อไป.