แอมเนสตี้ เรียกร้องรัฐบาล 16 ประเทศรวมไทย มีหลักประกันด้านสุขภาพให้กับชาวโรฮิงญา

รูปภาพจาก https://www.amnesty.or.th/latest/news/789/

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลส่งจดหมายเปิดผนึกลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงรัฐบาลประเทศออสเตรเลีย บังกลาเทศ บรูไน กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ติมอร์เลสเต ไทย ศรีลังกา และเวียดนาม แสดงความกังวลถึงชีวิตชาวโรฮิงญาเสี่ยงภัยอยู่กลางทะเล โดยส่งข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามความรับผิดชอบของตนภายใต้มาตรฐานระหว่างประเทศและพันธกิจต่อภูมิภาค

แคลร์ อัลการ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย รณรงค์ และนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่าเรือประมงหลายลำที่บรรทุกหญิงชายและเด็กหลายร้อยคนซึ่งเชื่อว่าเป็นชาวโรฮิงญา ติดอยู่กลางทะเลหลังถูกรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ผลักดันออกนอกชายฝั่งและปฏิเสธไม่ให้ขึ้นฝั่ง โดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคให้ร่วมมือทำงานและดำเนินการโดยทันที เพื่อคุ้มครองชีวิตบุคคลที่เสี่ยงภัยอยู่กลางทะเล โดยจำเป็นต้องมีมาตรการระดับประเทศและภูมิภาคที่สอดคล้องกับความรับผิดชอบของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมทั้งต้องเคารพต่อสิทธิมนุษยชนของผู้เข้าเมืองและผู้ขอลี้ภัย รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องดำเนินการตามมาตรการเหล่านี้เพื่อแก้ไขสาเหตุของวิกฤติในครั้งนี้

“ที่ผ่านมาหลายประเทศในภูมิภาคได้ดำเนินการอย่างน่าชื่นชมเพื่อให้ที่พักพิงแก่ผู้ที่หลบหนีจากการเลือกปฏิบัติและการประหัตประหารมานับทศวรรษ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน หลายร้อยชีวิตตกอยู่ในความเสี่ยงอีกครั้งและสะท้อนให้เห็นการขาดมาตรการประสานงานรับมือ นับเป็นโอกาสสำคัญที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคต้องร่วมมือกันดำเนินการตามกรอบการคุ้มครองระดับภูมิภาคที่เข้มแข็ง เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมืองอย่างสอดคล้องตามกฎบัตรอาเซียนที่เคารพกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ”

“รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ควรประกันว่า มาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้สัดส่วน ไม่เลือกปฏิบัติ และมีพื้นฐานอยู่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่อาจถูกใช้เป็นเหตุผลให้รัฐปฏิเสธไม่ให้ชาวโรฮิงญาขึ้นฝั่ง การบังคับให้ผู้ลี้ภัยต้องอยู่ในเรือต่อไปยังทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสิทธิด้านสุขภาพของพวกเขาและอาจเสี่ยงต่อสิทธิในชีวิต” แคลร์ อัลการ์กล่าว

https://www.amnesty.or.th/latest/news/789/