หนี้สาธารณะจาก ‘วิกฤติต้มยำกุ้ง’ ปี 40 ยังเป็นภาระของประชาชนอยู่มากกว่า 8 แสนล้านบาท

พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊กโดยมีรายละเอียดเนื้อหสดังต่อไปนี้

“หนี้สาธารณะ จาก ‘วิกฤติต้มยำกุ้ง’ ปี 40 ยังเป็นภาระของประชาชนอยู่มากกว่า 8 แสนล้านบาท”

หากเปรียบเทียบวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 40 ที่ออก พรก ปฏิรูปสถาบันการเงิน หรือ ปรส ขึ้น กับ วิกฤติโควิดที่ออก พรก.3 ฉบับ เพื่อการกู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท มีประเด็นที่เป็นห่วงเรื่องหนี้สาธารณะมาก แม้จะอยู่ในระดับที่ไม่เกินมาตรฐานก็ตาม

บทเรียนการก่อหนี้สาธารณะในอดีต จากช่วง “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ปี พ.ศ.2540 รัฐบาลขณะนั้น กับ ธปท ได้ให้ “กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน” รับโอนหนี้สินของเอกชนที่อยู่ใน 56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ คือโอนหนี้เอกชนเป็นหนี้สาธารณะมีมูลค่ารวมมากกว่า 1 ล้านล้านบาทนั้น จนรัฐบาลต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF พร้อมต้องรับเงือนไข IMF อาทิ ต้องตั้ง องค์กร ปรส เพื่อชำระบัญชีและขายสินทรัพย์ทั้ง 56 สถาบันการเงินที่ปิดกิจการ ซึ่ง ปรส ได้ขายสินทรัพย์เสร็จสิ้นได้โอนเงินคืนให้กองทุนฟื้นฟูฯทั้งหมดแล้วก็ตาม แต่ยังมีหนี้ค้างอยู่จำนวนมาก เมื่อนับเวลาจากปี 2540 จนถึง ปี 2563 ผ่านมาเกือบ 23 ปี ปัจจุบันยังมีหนี้สาธารณะทีเกิดจากกองทุนฟื้นฟูฯ ค้างอยู่มากถึง 801,416 ล้านบาท (รายงานหนี้สาธารณะสิ้นเดือนมีนาคม 2563) เป็นภาระและบาดแผลทางการเงินที่ถูกสร้างขึ้นโดยคนในอดีตสร้างแต่คนในปัจจุบันและอนาคตต้องใช้หนี้แทน

นอกจากนั้น IMF ยังมีเงือนไขให้รัฐบาล ตั้ง บริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ บบส เพื่อรับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของ 56 สถาบันการเงินไปบริหาร และให้ตั้งธนาคารรัตนสิน (ปัจจุบันคือ “ธนาคารยูโอบีรัตนสิน”) เพื่อรับซื้อสินทรัพย์ดีของ 56 สถาบันการเงินไปบริหาร แต่ทั้ง บบส และธนาคารรัตนสิน ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจาก ปรส จัดกองกองสินทรัพย์ประมูลขายคละปนกันไม่ได้แยกหนี้ดีและหนี้เสียในการประมูลขาย รวมทั้ง ปรส ในการจัดกองสินทรัพย์ที่ประมูลขายในช่วงแรกจัดกองใหญ่มากจนผู้ประมูลคนไทยไม่มีเงินพอที่เข้าประมูลซื้อได้ เช่น กลุ่มสินเชื่อธุรกิจ ( BL19-BL22 )จัดกองสินทรัพย์ประมูลมีค่าทางบัญชีราคาประมาณ 155,676 ล้านบาท ซึ่งคนไทยไม่มีผู้ใดมีเงินเข้าประมูลได้นอกจากต่างชาติ และในที่สุดประมูลขายในราคา เพียง 36,833 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.66 และได้โอนสิทธิให้ผู้เข้าทำสัญญาแทนกองทุนรวมบางกอกแคปปิตอล ที่เป็นต่างชาติ ที่ได้มีการแก้กฎหมายฯให้กองทุนรวมไม่ต้องเสียภาษีในเวลาต่อมาซึ่งเกิดการร้องเรียนว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ขึ้น

สำหรับ ใน วิกฤติโควิด 19 ครั้งนี้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ใช้แผนประทุษกรรมแก้ปัญหาคล้ายเดิม คือ ออก พรก 3 ฉบับ “กู้เงิน1.9 ล้านล้านบาท” เป็น พรก ที่ เสนอโดยธนาคารแห่งประเทศไทย 2 ฉบับ คือ พรก การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ที่มี SME ในประเทศมากกว่า 2 ล้านราย โดยตั้งวงเงินจำนวน 5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือนักธุรกิจและเจ้าของบริษัท SME วงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 2 พักชำระหนี้ 6 เดือน และพรก การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ให้ตั้งกองทุน BSF สามารถเข้าไปซื้อตราสารหรือหุ้นกู้ที่ออกใหม่ ซึ่งตลาดตราสารหนี้ของประเทศไทยขณะนี้มีขนาดประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท โดยตั้งวงเงินไว้ 4 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเศรษฐีที่หุ้นกู้ครบกำหนด รวมทั้งสามารถซื้อหุ้นกู้จากเอกชนได้ (ตลาดตราสารรอง)

นับว่าในปี 63 นี้ มีการกู้เงินมากที่สุดตั้งแต่ตั้งประเทศไทยมา และจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มมากแบบก้าวกระโดดปัจจุบันไทยมีหนี้สาธารณะประมาณ 7,018,731.44 ล้านบาท (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563) จะเพิ่มมากกว่า 8 ล้านล้านบาทเร็ว ๆ นี้ ซึ่งหนี้สาธารณะจะภาระของประชาชนทุกคนทั้งในปัจจุบันและในอนาคตต้องร่วมกันใช้หนี้ ที่อาจใช้หนี้นานมากถึง 100 ปี ดังนั้น ต้องใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

ในฐานะที่มีประสบการณ์ในการบังคับใช้กฎหมาย สืบสวนสอบสวนคดี พรก.ปรส พ.ศ.2540 จะขอนำประเด็นเนื้อหา พรก ปรส บางประการ เปรียบเทียบกับ เนื้อหา พรก.การรักษาเสถียรภาพตราสารหนี้ฯ พ.ศ.2563 หรือกองทุน BSF ซึ่ง พรก ทั้ง 2 ฉบับ เป็นระบบกฎหมายที่เรียกว่าใช้ “ระบบอนุญาต” และ “ระบบของคณะกรรมการ”

ในรัฐธรรมนูญปี 60 ได้กำหนดเงื่อนไขในการออกกฎหมายให้หลีกเลี่ยง “ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการ” และหากมีความจำเป็นต้องมี จะต้องบัญญัติเรื่องข้อห้ามเรื่อง การขัดกันแห่งผลประโยชน์ รวมทั้งกำหนดโทษเฉพาะผู้เกี่ยวข้องไว้ เพื่อไม่ให้กรรมการใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการใดไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม อันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่เพื่อหาประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น โดยมิชอบ แต่พบว่า พรก. กองทุน BSF ปี 63 ไม่ได้ยึดหลักการตามรัฐธรรมนูญ คือ ไม่กำหนดเรื่องการขัดขัดแห่งผลประโยชน์ ไม่มีข้อห้ามของคณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้องล่วงรู้ข้อมูลหรือความลับไปให้คนภายนอก รวมทั้งไม่มีบทกำหนดโทษเฉพาะของคณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้องกับกองทุน BSF ที่กระทำฝ่าฝืน พรก เป็นการเฉพาะแต่อย่างใด ซึ่งแตกต่างกับ พรก ปรส พ.ศ.2540 ที่มีกำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ จึงขอเปรียบเทียบ พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ ดังนี้
https://drive.google.com/file/d/1VUL7EFZLlTgm5RUTdT9rWyXD4Syee_xU/view?fbclid=IwAR0idqFFiz7oAwKvJHI82nh4pcZgaxKV3WAJ_XouK-mGcCZIoPOJL0lHqg8

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง
เลขาธิการพรรคประชาชาติ