‘ศรีสุวรรณ’ ค้านขึ้นเบี้ยประชุม20%และค่าตอบแทน กก.ปฏิรูปประเทศ-คณะจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ให้ปรับปรุงค่าตอบแทนของคณะกรรมการตาม พรบ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 2560 และ พรบ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ 2560 โดยให้จ่ายค่าตอบแทนจากรายครั้ง เป็นรายเดือน และขอปรับปรุงอัตราค่าตอบแทนของคณะกรรมการเพิ่มขึ้นจากเดิม 20% โดยประธานได้รับค่าตอบแทน 12,000 บาท รองประธาน 9,600 บาท กรรมการ 9,600 บาท เลขานุการฯ 4,800 บาท ผู้ช่วยเลขานุการฯ ไม่เกิน 2 คน คนละ 2,250 บาทตามที่ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอนั้น

การปรับปรุงและจ่ายค่าตอบแทนของกรรมการทั้ง 2 ชุดดังกล่าวเกิดขึ้นในท่ามกลางความทุกข์ยากของประชาชนคนทั้งประเทศที่ต้องเผชิญกับการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นถือได้ว่าเป็นการตบหน้าประชาชนผู้เสียภาษีทั้งแผ่นดิน ที่ชี้ให้เห็นว่าทั้งรัฐบาล ทั้งกรรมการ และ สคช.มิได้ละอายใจต่อประชาชนเลยแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่กรรมการทั้งหลายก็ล้วนมีเงินเดือนมีค่าตอบแทนและมีเงินประจำตำแหน่งในหน้าที่การงานเดิมของตนมากมายอยู่แล้ว และการที่กรรมการทั้งหลายต้องมาประชุมคณะกรรมการกันมากขึ้น ก็จะไปกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ในงานประจำของแต่ละคน ซึ่งสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องนำค่าตอบแทนหรือเบี้ยประชุมที่เพิ่มขึ้นไปหักลดเงินเดือนหรือค่าตอบแทนในตำแหน่งประจำของแต่ละคน จึงจะชอบ

การจ่ายค่าเบี้ยประชุมและปรับเพิ่มค่าตอบแทน กก.ปฏิรูปประเทศ-คณะจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ชี้ให้เห็นว่าเป็นเล่ห์เพทุบายในการเขียนกฎหมายโดยการออกระเบียบกำหนดให้คณะกรรมการตามกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ต้องทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดหลังจากประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทั้งๆที่ควรเป็นหน้าที่ของประชาชนทั้งประเทศ และตัวแทนของประชาชนที่เลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ในสภาฯ ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ม.65 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนว่า “กฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับ การมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วย” ซึ่งกรรมการดังกล่าวควรยุบทิ้งไปได้แล้ว เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่เคยมีผลงานใดเป็นประจักษ์ว่าจะมีการปฏิรูปประเทศด้านใดประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้บ้าง และแผนยุทธศาสตร์ชาติต้องกลายเป็นหมันไปโดยทันทีที่ประเทศต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่หากยังอยากให้มีคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดดังกล่าวอยู่ต่อไปก็ควรได้เบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนไม่เกินครั้งละ 331 บาทเทียบเท่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั่นเอง