‘จาตุรนต์’ ชี้หากเลื่อนเปิดเทอมออกไปเดือนครึ่ง อาจมีเด็กเสียชีวิตเพิ่มกว่าค่าเฉลี่ยถึง 200 คน

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ(ทษช.) โพสต์เฟซบุ๊กโดยมีรายละเอียดดังนี้

การศึกษากับโควิด19

รัฐบาลเคยคิดบ้างหรือไม่ ว่าการปิดเทอมนาน ๆ มีผลเสียอย่างไร

บทความนี้กำลังจะบอก ว่าจากสถิติในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก พบว่าเด็กและเยาวชนติดเชื้อ และเสียชีวิตจากโควิด19 น้อยมาก และนักวิชาการหลายสถาบัน ก็พบว่าเด็กไม่ได้แพร่เชื้อมากอย่างที่เคยกลัวกัน แต่การที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนเป็นความสูญเสียใหญ่หลวงมาก ทั้งจากการเสียโอกาสเรียนรู้ในระบบโรงเรียน และการต้องประสบกับปัญหาอื่น เช่น ความไม่ปลอดภัยจากความรุนแรง การขาดการดูแล อุบัติเหตุ ความเครียด และการขาดอาหาร เป็นต้น

บทความนี้จะให้ข้อมูลท่าน ว่าการเลื่อนการเปิดเทอมออกไปเดือนครึ่ง อาจหมายถึงการทำให้เด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ มากกว่าให้เด็กได้ไปโรงเรียนนับร้อย ๆ คน

ขณะที่เด็กเป็นล้าน ๆ คนจะไม่ได้กินอาหารอย่างเพียงพอ และในจำนวนนั้น 4-6 แสนคน อยู่ในสภาพวิกฤตคือ จะอยู่ในสภาพอดอยากไม่มีอะไรจะกิน ทั้ง ๆ ที่การติดเชื้อโควิด19 ในประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำมาก

สำหรับท่านที่ต้องการทราบข้อมูลในรายละเอียด เชิญอ่านครับ ผมได้พูดไว้ในบทความตอนแรก ๆ แล้ว ว่าประเทศต่าง ๆ เขาพยายามหาทางให้เด็กได้กลับเข้าเรียนอย่างถูกสุขลักษณะให้เร็วที่สุด ด้วยเหตุผลข้อหนึ่งคือ ความปลอดภัยระหว่างที่ไม่ได้ไปโรงเรียน

ผมพอทราบอยู่บ้างแล้ว ว่าเด็กไทยประสบอุบัติเหตุ และเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก พอมีประเด็นต้องเปรียบเทียบระหว่างปิดเทอมกับเปิดเทอม ผมจึงได้หาข้อมูลเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยของเด็กไทย ในช่วงปิดเทอมใหญ่ โดยหาข้อมูลจากหลายแหล่ง เกี่ยวกับการเสียชีวิตของเด็กจากอุบัติเหตุ

พบสถิติที่น่าสนใจจากข้อมูลที่เคยเผยแพร่ไว้ โดย รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ซึ่งได้อ้างถึงผลการศึกษาเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเด็กจากอุบัติเหตุ ในระหว่างปี 2542 – 2561 ไว้ว่า

“อุบัติเหตุเป็นเหตุนำการตายในเด็กไทย ในแต่ละปีเด็กไทยอายุ 1-14 ปีจะเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุจำนวนกว่า 2,500 รายต่อปี หรือเฉลี่ย 200 รายต่อเดือน ในแต่ละปีพบว่าเดือนที่มีเด็กตายจากอุบัติเหตุสูงสุดคือเดือนเมษายน (เฉลี่ย 350 รายต่อเดือน) อันดับรองลงไปเป็นเดือนมีนาคมและพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ของเด็ก ๆ รวมสามเดือนอันตรายนี้ มีการเสียชีวิตของเด็กจากอุบัติเหตุจำนวนกว่า 1000 ราย คิดเป็นกว่าร้อยละ 30-35 ของการตายตลอดทั้งปี…”

ลองคำนวณตัวเลขดู จะพบว่าในช่วงปิดเทอมใหญ่ 3 เดือน มีเด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 400 คน

เพราะฉะนั้นหากมีการเลื่อนการเปิดเทอมออกไปเดือนครึ่ง จาก 18 พฤษภาคมไปเป็น 1 กรกฎาคมนี้ อาจมีเด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพิ่มกว่าค่าเฉลี่ยถึง 200 คน

ยังมีสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับเด็กจมน้ำ จากตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงกว่าโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ ในรอบ 10 ปี (2551 -2561) มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 904 คน หรือวันละ 2.5 คน

ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงสุดทุกปี ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก พบว่าเด็กที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตอายุ 1-12 ปี การจมน้ำเป็นเหตุนำ การจมน้ำในเด็กเล็กอายุ 1- 4 ปี เสียชีวิตในบ้าน เด็กวัยเรียนระดับประถมอายุ 5-9 ปี มักตายในแหล่งน้ำใกล้บ้าน

นอกจากนี้ยังมีการค้นพบว่าการตายและบาดเจ็บในเด็ก ปัจจัยที่สำคัญคือความยากจน เด็กที่เสียชีวิตจากความไม่ปลอดภัยกว่าร้อยละ 70 อยู่ในครอบครัวและชุมชนที่มีศักยภาพต่ำ

นอกจากความเสียหายในเรื่องความปลอดภัยแล้ว การที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนยังมีความเสียหายในเรื่องการขาดอาหารด้วย เด็กยากจนจำนวนมากได้รับอาหารจากโรงเรียนทั้งโครงการอาหารกลางวันและนมโรงเรียน

จากการเปิดเผยข้อมูลของศูนย์อำนวนการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าเด็กในชนบทไม่ได้กินอาหารเช้า หรือได้กินแค่บางมื้อ และมื้อเที่ยงต้องไปกินที่โรงเรียน และครูต้องกันอาหารกลางวันให้เด็กกลับไปกินมื้อเย็นที่บ้านด้วย โดยพบว่าเด็กกลุ่มนี้มีถึง 4-6 แสนคน

การเลื่อนการเปิดเทอมออกไปเป็นเดือน ๆ จึงเป็นปัญหาต่อเด็กยากจนเหล่านี้ ยิ่งพ่อแม่ต้องตกงานหยุดงานด้วยอย่างในปัจจุบัน เด็กเหล่านี้ก็จะยิ่งลำบากมากขึ้น

สังคมไทยอาจได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียว ว่าโควิด19 เป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตอย่างไร จึงจำเป็นต้องเลื่อนการเปิดเทอมออกไป แต่ไม่ค่อยได้รับข้อมูลว่าการที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนนั้น มีผลเสียหายอย่างไร

นอกจากการเสียโอกาสในการเรียนในระบบโรงเรียนแล้ว ยังมีความสูญเสียในด้านอื่น ๆ อย่างไรบ้าง ปัญหาความปลอดภัยและการขาดอาหาร เป็นตัวอย่างของปัญหาที่สำคัญส่วนหนึ่ง ที่จะต้องนำมาประกอบการพิจารณาด้วย

หากพิจารณาจากสถิติการติดเชื้อและการเสียชีวิตในเด็ก ที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยโดยรวม ทั้งผู้ใหญ่และเด็กที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เปรียบเทียบกับสถิติความสูญเสียจากอุบัติเหตุในช่วงปิดเทอม จะพบว่าการเลื่อนการเปิดเทอมออกไปนาน ๆ จะทำให้เกิดความเสียหาย ทั้งในเรื่องของการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน และความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของนักเรียนเกินกว่าที่จำเป็นอย่างมาก

การเลื่อนการเปิดเทอมให้เร็วขึ้น และการสร้างความพร้อมเพื่อเปิดศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศโดยเร็ว จึงเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาดำเนินการโดยเร็วที่สุด.