ครบ 28 ปีพฤษภาทมิฬ ‘ญาติวีรชนฯ’ จี้ ‘บิ๊กตู่’ ไขก๊อกพ้นนายกฯ หยุดสืบทอดอำนาจ

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์

เมื่อ 17 พ.ค. 2563 ในโอกาสครบ 28 ปี เหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา นำโดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ในฐานะประธานได้ออกแถลงการณ์ดังนี้

1.บัดนี้การเมืองไทยภายหลังยุคสมัย คสช. ผ่านพ้นมาจนถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากการเลือกตั้งหลังรัฐประหาร แต่ยังคงมีความขัดแย้งทางการเมืองสะสมเรื่อยมา กลุ่มประชาชนที่เคยชุมนุมเรียกร้องต่างๆยังคงทุกข์ระทม การเมืองไทยยังอยู่ในวงจรอุบาทว์ นักการเมืองหน้าเดิมๆเข้ามาเสวยอำนาจ ท่ามกลางปัญหาความยากจนข้นแค้นของประชาชน และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มหาศาล หลังจากประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติทางธรรมชาติจากการระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รัฐบาลได้ประกาศใช้อำนาจพิเศษตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมทุกด้าน ขณะที่ปัญหาพื้นฐานสำคัญก็ยังไม่มีการแก้ไข ซ้ำร้ายปัญหาเศรษฐกิจและความขัดแย้งมีแนวโน้มจะขยายบานปลายหลังวิกฤติของไวรัสโควิดในระยะ 3-4 เดือนข้างหน้านี้ซึ่งจะเป็นวิกฤติรอบด้านหนักหน่วงรุนแรงกว่าทุกครั้ง

2.แม้คณะกรรมการญาติวีรชนฯจะเคยสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำในการแก้ไขสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งขณะนี้เริ่มคลี่คลายลงแล้ว เนื่องด้วยระบบสาธารณสุขของประเทศไทยที่วางรากฐานไว้อย่างเข้มแข็งตั้งแต่พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน และบัดนี้พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เหมาะกับสถานการณ์ใหม่แล้ว เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ปฏิรูปประเทศและสร้างความปรองดองสมานฉันท์ตามสัญญาและยังสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ออกแบบเอง จึงกลายเป็นคู่ขัดแย้งใหม่ ซึ่งเป็นอุปสรรคของการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองและการพัฒนาประชาธิปไตยเสียเอง และกำลังสร้างความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลเองด้วย หากเกิดวิกฤติรอบใหม่จะไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ จึงควรแสดงเจตจำนงด้วยการเสียสละลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดพื้นที่ให้รัฐบาลชุดต่อมาที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งได้เข้ามาแก้ปัญหาซึ่งถือเป็นการล้างกระดานใหม่ ก่อนที่สถานการณ์ต่างๆของบ้านเมืองจะรุมเร้าเกิดความปั่นป่วนโกลาหล และกระทบต่อสถาบันสำคัญของชาติ จนไร้หนทางเยียวยาวแก้ไขได้

3.อยากให้พล.อ.ประยุทธ์ได้ทำเพื่อบ้านเมืองก่อนลงจากอำนาจในช่วง3-4 เดือนข้างหน้านี้โดยเฉพาะการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมท่ามกลางภาวะข้าวยากหมากแพงและไวรัสโควิด-19ระบาดคนยากจนตกงานจำนวนมาก ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางแทบเอาตัวไม่รอด สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ยังถูกบรรดานักธุรกิจการเมืองผูกขาดแสวงหากำไร จึงขอให้นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งแก้ไขให้มีการลดค่าใช้ไฟฟ้า ประปา ราคาพลังงานและระบบขนส่งมวลชนสาธารณะให้ถูกลงกว่าเดิม เพื่อบรรเทาภาระของประชาชน ด้วยการยกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่ทำไว้กับเอกชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้สัดส่วนเอกชนในการผลิตไฟฟ้าเกินความจำเป็น หรือการให้เอกชนผูกขาดการจัดการทรัพยากรน้ำและพลังงานต่างๆ เป็นต้น รวมทั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยฉันทามติของรัฐสภาและประชาสังคมร่วมกันในอนาคต และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามเสียงเรียกร้องของประชาชน ซึ่งการแก้ปัญหาเหล่านี้จะเป็นคำตอบของนายกรัฐมนตรีว่าจะเลือกลงจากหลังเสือที่ทำให้ประชาชนยกย่องสรรเสริญหรือถูกประขาชนขับไล่

4.พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ รวม1.9ล้านล้านบาท และร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายฯ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 รัฐบาลจะต้องนำงบประมาณไปใช้ฟื้นฟูเศรษกิจสังคมอย่างแท้จริง มีการเยียวยาวประชาชนที่ได้รับผลกระทบเดือดร้อนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ต้องไม่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนและอย่าให้มีการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาทเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ดีแต่ที่ผ่านมาการจัดสรรงบประมาณล้วนเป็นไปตามความต้องการของกระทรวงมหาดไทยมิได้รับฟังความเห็นของชุมชนอย่างแท้จริง นำไปสู่การรั่วไหลและการหาประโยชน์ส่วนตนอันมิชอบ ดังนั้นการคัดเลือกโครงการต่างๆจะต้องผ่านกระบวนการประชุมแลกเปลี่ยนกันในชุมชน เพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประสิทธิผลป้องปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างแท้จริง

ท้ายนี้ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะมีมโนสำนึกด้วยตัวเอง จะอ้างเป็นผู้นำที่มาคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองหรือแก้วิกฤติไวรัสโควิด-19จนคลี่คลาย เพื่อจะรักษาอำนาจของตัวเองต่อไปไม่ได้ เพราะจะเป็นการรักษาระบบการเมืองที่ล้มเหลวไม่ตอบโจทย์ประเทศในสถานการณ์ใหม่ ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างใหญ่หลวง.