10 ปีพฤษภาอำมหิต พ.ศ. 2553 กับ ทองม้วน

เพจเฟซบุ๊ก ยูดีดีนิวส์ – UDD news เผยแพร่ข้อเขียนเรื่อง “10 ปีพฤษภาอำมหิต พ.ศ.2553 กับทองม้วน” ของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ที่เขียนขึ้นเพื่อรำลึกครบ 10 ปีการสลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือ คนเสื้อแดง

โดย “10 ปีพฤษภาอำมหิต พ.ศ.2553 กับทองม้วน” มีรายละเอียดเนื้อหาดังนี้

1.เกริ่นนำ

ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวของผม ในฐานะที่เคยเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ในยุค “สายลม แสงแดด และยูงทอง” (พ.ศ. 2502-2506) และเป็นผู้สอนประวัติศาสตร์การเมือง ทั้งที่ท่าพระจันทร์ ต่อด้วยรังสิตในยุค “ตุลา/ตุลา” (พ.ศ. 2516-2519 กับ “พฤษภา/พฤษภา” (พ.ศ. 2535-2553) ทำให้ผมได้เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ทางการเมืองของไทยและของธรรมศาสตร์ ทั้งทางกายและทางใจ โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้

เหตุการณ์สำคัญทั้ง 4 เป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยที่มีความรุนแรง มีการสูญเสียชีวิต มีทั้งเลือดและน้ำตา และเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น “อาชญากรรมของรัฐไทย และของชนชั้นปกครองไทย” ที่ผู้กระทำผิด แต่กลับ “ได้รับยกเว้นจากการลงโทษ” (impunity) ตลอดมา

2.พฤษภาอำมหิต 2553 (Black May 2020)

เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งล่าสุด เมื่อเดือนมีนา-เมษา-พฤษภา ปี 2553 (ค.ศ.2010) ที่เวียนมาบรรจบครบรอบ 10 ปีในปีนี้นั้น ผมเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “พฤษภาอำมหิต 2553 (หรือ Black May 2010)”

และขอสรุปย่อ ๆ ทางประวัติศาสตร์ว่า เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นในช่วงของการชุมนุมยาวเหยียด ระหว่างเดือนมีนา-เมษา-พฤษภา จนกระทั่งถึงวันที่รัฐบาลสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงเมื่อวันที่ 19 พฤษภา

ในเหตุการณ์ดังกล่าว ประชาชน มวลชน-คนเสื้อแดง ชาวบ้าน (ที่ถูกกล่าวหาว่า “โง่” และ “ถูกจ้าง” มา) จากภาคอีสาน ภาคเหนือ ร่วมด้วยช่วยกันกับคนชั้นกลางชาวกรุง (ที่ถูกเชื่อว่า “ฉลาด” และ “ไม่ขายตัว-ซื้อไม่ได้”) มีจำนวนหลายหมื่นคนมาร่วมชุมนุมประท้วง

ขบวนการดังกล่าว มี “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (หรือ นปช. ที่เคยใช้ชื่อเดิมว่า “แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ” หรือ นปก.) เป็นแกนนำ

ขบวนการดังกล่าว มีนักการเมืองคนสำคัญ ๆ อย่างวีระกานต์ มุสิกพงศ์, จตุพร พรหมพันธุ์, และ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เป็นผู้นำ ทำการปฏิบัติการชุมนุมประท้วงต่อเนื่องยาวนาน ทั้งที่ถนนราชดำเนิน และบานปลายขยายวงไปถึงสยามสแควร์ กับสี่แยกราชประสงค์

ขบวนการนี้ เรียกร้องให้ นรม.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ประชาธิปัตย์) “ยุบสภา” จัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งในที่สุดรัฐบาล นรม.อภิสิทธิ์ ตัดสินใจใช้กำลังทหารของกองทัพบก ปราบปรามด้วยอาวุธสงคราม พร้อม ๆ กับการตั้งข้อกล่าวหา “ก่อการร้าย” และ “เผาบ้านเผาเมือง” การปราบปราบครั้งนี้ มาพร้อมกับการอ้าง-อิง-โหน สถาบันชาติ กับสถาบันกษัตริย์

3.ความรุนแรง

ในเหตุการณ์นี้ มีผู้ถูกทำลายชีวิตประมาณ 100 ราย (?) บาดเจ็บ 2,000 (?) ผู้ที่ถูกกระทำ และตกเป็นเหยื่อ มีทั้ง “ชาวบ้าน” จากชนบทภาคอีสาน กับภาคเหนือ กับ “ชาวกรุง” คนชั้นกลาง/ล่าง (ตามที่กล่าวข้างต้น) และเป็นที่น่าสังเกตว่าในเหตุการณ์ครั้งนี้ มีหญิงวัยกลางคนจำนวนไม่น้อย เข้าร่วมในเหตุการณ์นี้

อนึ่ง ในเหตุการณ์ดังกล่าว สื่อมวลชน ผู้สื่อข่าว ภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้ง นสพ. วิทยุ โทรทัศน์ ต่างมีความเห็นที่แตกแยก ขัดแย้งกันชัดเจน ต่างถือฝักถือฝ่าย เข้าร่วม มีส่วนได้เสียเป็นจำนวนมาก

วิกฤตการณ์ “พฤษภาอำมหิต” (2553/2010) นี้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากกว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 (1973) หรือ 6 ตุลา 2519 (1976) ตลอดจน “พฤษภาเลือด” ปี 2535 (1992)

ขอแทรกตรงนี้ว่า เหตุการณ์ปี 2535 นั้น ไม่ควรเรียกว่า “พฤษภาทมิฬ” เพราะเป็นคำเรียก ที่สะท้อนลัทธิ racism หรือการเกลียดชังทางเชื้อชาติ

ทั้งนี้เพราะ ทมิฬเป็นชนชาติ ที่อยู่ในอินเดียใต้ ในสิงคโปร์และมาเลเซีย จำนวนหลายสิบล้านคน หาได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “อาชญากรรมของรัฐไทย และชนชั้นปกครองไทย” บนถนนราชดำเนินกลางไม่ ขอเสนอให้ใช้ความว่า “พฤษภาเลือด” หรือ Bloody May 1992)

4.หลังพฤษภาอำมหิต

แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจไม่น้อย ที่หลังการปราบปรามรุนแรงเมื่อ 19 พฤษภา ปี 2553 นั้น นรม. อภิสิทธิ์ กลับยินยอมยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 (2011) หรืออีกหนึ่งปีกว่า ๆ ต่อมา ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าผู้กำชัยชนะในศึกเลือกตั้งครั้งนั้นกลับได้แก่ “พรรคเพื่อไทย” (ที่กลายพันธุ์มาจากพรรคไทยรักไทย/พรรคพลังประชาชนในอดีต)

พรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้ง มี ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งคือ 265 ที่นั่ง (จากจำนวนรวม 500 ที่นั่ง) ในขณะที่ฝ่ายตรงข้าม คือ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส. เพียง 159 ที่นั่ง

อันเป็นผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นบุคคล no name ทางการเมือง ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย พร้อม ๆ ทั้งยังดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกด้วย

เธอกับพรรคของเธอ ที่อยู่ในตำแหน่งเกือบจะครบ 4 ปีนั้น ถูกกำจัดออกไปด้วยกระบวนการตุลาการภิวัตน์ (รัฐประหารโดยศาล) กับรัฐประหารที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 22 พฤษภา 2557 (2014) ซึ่งเข้ายึดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเป็นเวลา 6 ปี ตราบจนเท่าทุกวันนี้

โดยส่วนตัวของผม เหตุการณ์พฤษภาอำมหิต 2553 เกี่ยวพันทางใจมากกว่าทางกาย แต่ผมก็สนใจติดตามเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา และเสียใจเป็นอย่างมาก ที่ประเทศชาติของเราได้มาถึงจุดอัปลักษณ์เช่นนี้ คำพูดที่สวยหรู ไม่ว่าจะคำว่า “ปฏิรูป” “ปรองดอง” “สมานฉันท์” ตลอดจน “รู้รักสามัคคี” กลายเป็นคำกลวง ๆ และไม่มีความหมายอีกต่อไป

5.ทองม้วน

ผมคิดถึงชื่อสามัญธรรมดาชื่อหนึ่ง คือ “ทองม้วน” ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยวิทยากร เชียงกูล และคำสิงห์ ศรีนอก และถูกทำให้อยู่ในความทรงจำของผมโดยสุชาติ สวัสดิ์ศรี กับ Ben Anderson

ทุก ๆ เดือนพฤษภา นับตั้งแต่ปี 2553 (2010) เป็นเวลา 10 ปีแล้ว

ผมจะนึกถึงเด็กชาวบ้านคนหนึ่ง ที่ชื่อ “ทองม้วน” ผมได้เขียนถึงเธอหลายครั้งหลายครา ดังต่อไปนี้

ในเดือนพฤษภาปี 2553 เมื่อผมตามไปดูการชุมนุมนั้น ผมพบ “ทองม้วน” ที่หน้าวัดปทุมวนาราม ที่อยู่ใกล้ ๆ สยามสแควร์

บางคนอาจจะจำได้ว่า “ทองม้วน” คือเด็กหญิงชาวบ้านตัวเล็ก ๆ ที่พี่คำสิงห์ และที่นิสิต/นักศึกษารุ่นวิทยากร เชียงกูล ไปพบเธอตอนออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท “เหมือนอย่างไม่เคย” ที่อีสาน

ครั้งกระนั้น พวกเราจำได้ว่า “ทองม้วน” ตื่นเต้นกับ “พี่ ๆ คนเดือนตุลา” มาก ที่ต่างช่วยกันสร้างฝัน “พัฒนา” สร้างความเจริญให้หมู่บ้านของเธอ แต่พี่คำสิงห์ ก็ดักคอพวกเราว่า “แล้วเธอก็จะรู้เอง”

หลังจากนั้น “ทองม้วน” เคยเข้ามากรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง เธอมาหา “พี่ ๆ คนเดือนตุลา” ที่เมื่อเรียนจบปริญญาตรี ต่างก็วุ่นกับการหางาน ทำงานหรือไม่ก็เรียนต่อโท ต่อเอกกัน ไม่มีเวลาให้เธออีกต่อไป

“ทองม้วน” ต้องกลับบ้านไป อย่างผิดหวัง แล้วเธอก็รู้เองว่า พี่ ๆ ชาวกรุงหาได้สนใจเธอเหมือนเมื่อครั้ง “ออกค่ายอาสาพัฒนา” ไม่

ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนพฤษภา ปี 2553 ที่พบกันนั้น ผมจำเธอไม่ได้ เพราะไม่ได้พบกันนานหลายสิบปี เธอคงอายุปาเข้าไปเกือบ 50 แล้ว

เธอมากับพี่ ๆ น้อง ๆ ชาวบ้าน ที่หอบข้าวของพะรุงพะรัง กะติ๊บ ถุงข้าวสาร และหวด เธอบอกว่าที่บ้าน (นอก) เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว

แต่ก็ไม่ได้ “พัฒนา” ไปอย่างที่พี่ ๆ คนตุลา เคยฝันเมื่อครั้งไปออกค่ายหรอก อาคารอเนกประสงค์ที่นิสิต/นักศึกษาช่วยกันสร้างไว้ ก็ผุพังไปหมดแล้ว ตอนนี้ก็ไม่มีพี่ ๆ ออกไปเยือนหมู่บ้านอีกเลย

“ทองม้วน” ดูจะมั่นอกมั่นใจในการเข้ามาในกรุงฯ ครั้งนั้น เธอพูดถึง “ประชาธิปไตย” “ความยุติธรรม” กับ “สองมาตรฐาน” ผมไม่รู้ว่าเธอจำมาจากพี่ ๆ ที่ออกค่ายสมัยโน้น หรือเธอเก็บได้จากแถว ๆ ราชดำเนิน/ราชประสงค์?

ครับ “ทองม้วน” เปลี่ยนไปมาก เกือบเป็นคนละคน แม้กลิ่นอาย และผิวพรรณ ชาวบ้าน ๆ กับสำเนียงพื้นถิ่นจะยังอยู่กับเธอก็ตาม

วันที่เขาส่องนกพิราบ “ล้อมยิงโดยกระหยิ่ม อิ่มในเหยื่อตัวนี้” มีคนเห็น “ทองม้วน” กับพี่น้องหลายคน วิ่งหนีเข้าไปหลบกระสุนปืน ที่โบสถ์พระเสริม วัดปทุมวนาราม

หลังจากนั้น ผมพยายามสืบหาว่า “ทองม้วน” เป็นตายร้ายดีอย่างใด

แต่ก็ไม่ได้ข่าว บ้างก็ว่าเธอตายไปแล้ว ถูกยิงตายแถว ๆ วัดใกล้ ศูนย์การค้าสยามฯ นั่นแหละ

แต่บางคนบอกว่า “ทองม้วน” หนีรอดไปได้ และกลับไปยังแผ่นดินของ “พระใส” ที่หนองคาย ไม่ใกล้ไม่ไกลที่ “พระสุก” ที่สถิตอยู่ใต้แม่โขง มหานทีนั้น

หลาย ๆ คนเชื่อว่า ทองม้วนจะกลับมา

6. สรุป

ครับ ผมขอจบข้อเขียนนี้ว่า เมื่อเป็นมาตั้ง 2 ทศวรรษ หรือ 20 กว่าปีแล้ว ที่ฝ่ายอำนาจเดิม บารมีเดิม ชนชั้นปกครองเดิม คนรุ่นเก่า ๆ ใช้อำนาจทำรัฐประหารโดยศาล (ตุลาการภิวัตน์ / judicialization) ใช้รถถังกับอาวุธสงคราม ทหารตำรวจ ปฏิบัติการรวบอำนาจ (อมาตยาเสนาภิวัตน์ / coup) กินรวบ ชนะอยู่แต่ฝ่ายเดียว

การประนีประนอม การสมานฉันท์ กับฝ่ายอำนาจใหม่ บารมีใหม่ ชนชั้นปกครองใหม่ และคนรุ่นใหม่ ๆ ก็ดูจะเป็นไปไม่ได้ ครับ

It seems compromise or reconcile is not possible anymore in Thailand …

ผมหวังว่า อนาคตของประเทศไทย จะไม่จบลงอย่างที่ผมกังวล

17 พฤษภา 2563/2020
ในบรรยากาศของโรคห่า “โควิด-19” ลงกินโลกทั้งใบ