‘จตุพร’ วิเคราะห์แนวคิดตั้ง ‘โรงทาน’ ทั่วประเทศ ไทยอาจเดินซ้ำรอยประเทศเวเนซุเอลา

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ PEACETALK วานนี้โดย อ้างถึง รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากสถาบันนิด้า รายงานว่า นายสมคิด ประชุมสั่งการผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังเมื่อ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญบางส่วนคือ ประเมินว่า ช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า วิกฤตเศรษฐกิจจะรุนแรงขึ้น มีคนตกงาน ว่างงานและขาดรายได้จำนวนมาก จึงสั่งการให้กระทรวงการคลังเตรียม “ตั้งโรงทาน” ทุกอำเภอ โดยใช้เครือข่ายของธนาคารรัฐทุกแห่งช่วยเหลือให้ชาวบ้านได้ประทังความหิวโหย

นอกจากนี้ รศ.ดร.พิชาย ระบุว่า ถ้าวัยแรงงาน 10 ล้านคนไม่มีรายได้ จะทำให้มีคนตกอยู่ในภาวะความยากลำบากทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคนจากจำนวน 878 อำเภอ และ 50 เขตใน กทม. สมมุติแต่ละอำเภอมีคนรอแจกอาหาร 2 หมื่นคน ให้เงินค่าอาหาร 40 บาทต่อหัว แต่ละอำเภอจะใช้เงินวันละประมาณ 8 แสนบาท ถ้าตั้งโรงทาน 90 วัน จะใช้เงิน 72 ล้านต่ออำเภอ รวมทั้งหมดเป็นเงินร่วม 7 หมื่นล้านบาท

“สิ่งนี้เพิ่งเคยได้ยินที่จะให้ตั้งโรงทานทุกอำเภอ จึงเป็นคำตอบที่ตัวเองเรียกร้องให้พูดความจริงทุกเรื่องกับประชาชน เพราะถ้าประเมินสถานการณ์ผิดพลาดแล้ว จะรับมือไม่ได้เลย และเมื่อมีการสะสมไว้ความเดือดร้อนก็ทวีคูณตามลำดับ”นายจตุพร กล่าว

นายจตุพร กล่าวต่อไปว่าว่า ภาวะทางเศรษฐกิจทั่วโลกจะรุนแรงมาก ตนพยายามให้พูดความจริงกับประชาชน เมื่อประเทศต้องเดินไปสู่กระบวนการรัฐต้องแจกอาหารกันแล้วจากการคาดการณ์ของนายสมคิด ซึ่งไทยกำลังเดินไปสู่สิ่งที่ไม่เคยเจอ

ในสถานการณ์โควิดนั้น ไทยอยู่อย่างยากลำบากเหลือเกิน ดังนั้นงบประมาณการฟื้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน หรืองบประมาณปี 2564 ประมาณ 3 ล้านล้านนั้น ต้องไม่คิดเรื่องอื่น แต่ควรมุ่งไปสู่การรักษาชีวิตคนไทย

“บัดนี้ความหิวโหยได้บุกมาถึงไทยที่ยกตัวเองเป็นครัวโลกอย่างไม่น่าเชื่อ สิ่งนี้จึงสะท้อนถึงภาพความจริงยิ่งกว่าการเผาจริง ดังนั้น ทุกสิ่งในขณะนี้ควรเตรียมการณ์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะไทยอิงกับโลก อีกทั้งต้องคิดใหม่ในสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อน”

นายจตุพร กล่าวว่า นักเศรษฐศาสตร์ ผู้ชำนาญด้านการเงิน การธนาคาร เคยชี้ไว้ว่า ประเทศไทยต้องทำอีกหลายมาตรการ และบางมาตรการต้องฝืนใจทำ อีกทั้งบางมาตรการยังสุ่มเสี่ยงให้เกิดอาการแบบประเทศเวเนซุเอลา ถ้าจัดการให้ล้นเกินความพอดี

“คนไทยขณะนี้อยู่กันอย่างยากลำบาก แล้วนำไปสู่ข้อสรุปว่า ปลายทางหนีโรงทานทั้งแผ่นดินกันไม่พ้น ถ้าจัดการงบฟื้นเศรษฐกิจ ประกอบกับงบประมาณปี 2564 ก็ควรออกแบบการใช้เพื่อหยุดสร้างถนน สะพาน หรืออะไรไม่จำเป็นกับชีวิตต้องตัดออกหมด เพื่อใช้เศรษฐกิจตนเป็นที่พึ่งแห่งตนในประเทศ”

สิ่งสำคัญที่สุดคือ ก่อนจะถึงช่วง 3-4 เดือนข้างหน้าตามการคาดของรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจนั้น แต่เดือน มิ.ย.นี้การเยียวยาสิ้นสุด จึงไม่รู้ชะตากรรมจะเป็นอย่างไร หากมีเงินเยียวยาเหลือ ควรดำเนินการอีกรอบหนึ่งดีหรือไม่ อย่างน้อยถ้าแย่จนถึงขั้นตั้งโรงทานนั้น หากสิ่งนี้หลีกเลี่ยงไม่พ้นก็ต้องปฎิบัติ

ตนเชื่อว่า ขณะนี้หลายส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและอ้อม ต่างต้องเตรียมการ รวมทั้งวัดวาอาราม จะทำอย่างไรกัน ในยามยากลำบากที่สุด ดังนั้น ในสถานการณ์ของประเทศไปกันไกลแล้ว แต่ทางการเมืองกลับขัดแย้งกันเป็นเรื่องปกติ

อย่างไรก็ตาม หากมีการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็จะพอเบี่ยงเบนความหวังของคนได้บ้าง เพราะจะมีแรงสะพัดระดับหนึ่งในช่วงใกล้ฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งยังไม่รู้จะฟื้นอย่างไร หากคิดเพียงงบประมาณหมดแล้วจัดเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้ จึงเป็นข้ออ้างที่ฟังกันไม่ขึ้น

ส่วนการเลือกตั้งระดับชาตินั้น ต้องคุยกติกา รธน.60 กันใหม่ก่อนจะเกิดขึ้น แต่ส่วนท้องถิ่นนั้นมีความพร้อมมากกว่าจึงควรจัดเลือกตั้ง ขออย่าไปเลือกตั้งช่วงตั้งโรงทานจะเกิดวุ่นวายที่สุด

“การสั่งการของรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจให้ตั้งโรงทาน เท่ากับประเทศยากจะฟื้น แสดงว่างบฟื้นฟู เศรษฐกิจนั้น ถ้าฟื้นได้จริงจะเตรียมการให้ตั้งโรงทานหรือ จึงบอกถึงอาการหลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มีจริงๆ”

นายจตุพร กล่าวว่า สถานการณ์แบบนี้ เราต้องเตรียมการชีวิตมากมาย นอกจากการตั้งโรงทานแล้ว คนไทยต้องเตรียมใจอะไรกันบ้าง เพราะทุกอย่างจะล้มระเนระนาดกันไปหมด ซึ่งหนักกว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ดังนั้น ทุกอย่างต้องพูดความจริง เพื่อนำพาให้ประเทศรอดพ้นไปได้