องค์กรปชต.จี้รัฐบาลยกเลิก พรก.ฉุกเฉินฯ-ปรับ ครม.-เลือกตั้งท้องถิ่นโดยเร็ว

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ดอชา นายกรัฐมนตรี ประเมินสถานการณ์เตรียมยกเลิก พรก.ฉุกเฉินฯ และปลดล็อกประเทศว่า รัฐบาลควรยกเลิกพรก.ฉุกเฉินฯ นานแล้วและใช้ พรบ.ควบคุมโรคติดต่อแทน เนื่องจาก 1 เดือนกว่าที่ผ่านมา การใช้ พรก.ฉุกเฉินฯ ใช้ควบคุมคน ไม่ใช่ใช้ควบคุมโรค จึงไม่ใช่ตัวชี้วัดการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ได้ การบูรณาการหน่วยงานต่างๆ อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งการได้อยู่แล้ว และการประกาศเคอร์ฟิวก็ไม่ได้แก้ปัญหา แต่กระทบเศรษฐกิจวงกว้าง รวมถึงเรื่องร้านอาหารที่มีดนตรีสดทำให้นักดนตรีและคนทำงานบริการตกงานจำนวนมากและยังไม่มีมาตรการดูแลแก้ไขให้เขากลับมาทำงานได้ แต่มหกรรมคอนเสิร์ตกับอนุญาตให้จัดได้ ดังนั้นนโยบายรัฐบาลหลายเรื่องจึงย้อนแย้งกัน ไม่เป็นระบบ และไม่สัมพันธ์กับการป้องกันโรคระบาดในหลายเรื่อง

ผมเห็นว่าการใช้อำนาจตาม พรก.ฉุกเฉินฯ ไม่ผ่านการประเมินผลงาน และถูกครหาว่าใช้อำนาจพิเศษเพื่อผลทางการเมือง เนื่องจากการบริหารราชการแผ่นดินที่ขาดประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนต้องการให้เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีมานานแล้ว แต่การคอร์รัปชันเวลาด้วยอำนาจพิเศษจะนำมาซึ่งปัญหาใหญ่ ถ้าแก้ไขไม่ทันเวลา

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ พรก.ฉุกเฉินฯ นอกวัตถุประสงค์ จากกรณีที่ผู้กำกับฯ สถานีตำรวจนครบาลวังทองหลางได้ออกหมายเรียกนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กับพวกรวม 6 คน และนายณัฐวุฒิ อุปปะ รองเลขาธิการ กป.อพช. กับพวกรวม 4 คน ในข้อหาได้ร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมการเมืองหน้าสถานทูตกัมพูชา ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พรก.ฉุกเฉินฯ ไม่ทราบว่าต้องการทำงานเอาหน้าหรืออยากเลื่อนยศตำแหน่งหรือไม่ แต่เป็นเหตุให้รัฐบาลถูกต่อว่าใช้อำนาจในทางมิชอบ และทำให้เรื่องแย่ลงไปกว่าเดิมเพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศที่กำลังดำเนินการอยู่เพื่อความร่วมมือในการสอบสวนการอุ้มหายผู้ลี้ภัยทางการเมือง และสิทธิพลเมืองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) – ICCPR) ที่ไทยเป็นภาคีอยู่ จึงทำให้รัฐบาลเสียหน้ามาก ดังนั้น ควรยกเลิกข้อหาดังกล่าวโดยเร็ว รวมถึงกรณีการแจ้งข้อหาการฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉินฯ ล่าสุดที่ จ.ระยองด้วย อย่าใช้อำนาจพิเศษผิดวัตถุประสงค์ในการป้องกันโควิด-19

นอกจากนี้ ครป.เคยเตือนแล้วว่าอย่าลักหลับประชาชนในเรื่องข้อตกลง CPTPP การตั้งกมธ.วิสามัญศึกษา CPTPP เป็นเรื่องที่ดีแต่ระยะเวลาศึกษาผลกระทบ 1 เดือนสำหรับ กมธ. และ 1 สัปดาห์สำหรับอนุกรรมการเป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไป ไม่สามารถพิจารณาผลประโยชน์แห่งชาติได้อย่างถี่ถ้วน และไม่ต้องกลัวการตกรถเมล์ หรือกลัวไม่ทันรอบการลงนามในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ แม้แต่อเมริกายังถอนตัว เพราะการขึ้นรถเมล์ขบวนเสรีนิยมใหม่ไม่ใช่มีแต่ด้านดี บางทีก็คือการนำประเทศเข้าไปเป็นทาสในระบบระหว่างประเทศในที่สุด หรือที่รีบเพราะพวกท่านมีผลประโยชน์

เรื่องที่รัฐบาลต้องทำในช่วงนี้หลังยกเลิก พรก.ฉุกเฉินฯ ก็คือ การปรับ ครม.และการประกาศเลือกตั้งท้องถิ่น ปัญหาเศรษฐกิจและความขัดแย้งทางการเมืองทำให้ประชาชนต้องการให้เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี รัฐบาลจึงมีเวลาไม่มากในการสร้างผลงานก่อนผลัดเปลี่ยนอำนาจใหม่ ก่อนที่วิกฤตและจลาจลจำตามมา เงื่อนไขการปรับ ครม. เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องล้างรัฐมนตรีสีเทาและไม่มีผลงานทั้งหลายออก โดยเฉพาะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ พลังงาน การเกษตร การศึกษา และแรงงาน โดยเฉพาะบุคคลที่ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณารับคำร้อง ควรยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. และรัฐมนตรี แม้ว่าศาลจะยังไม่สั่ง ถือเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

รวมถึงการที่ ส.ส.บางคน กล่าวข้อมูลเท็จเรื่องเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แม้จะลบข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ไปแล้วแต่ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว จะต้องมีการรับผิดและพรรคการเมืองจะต้องรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว

สำหรับอนาคตประเทศไทย รัฐบาลจะต้องเริ่มคิดเรื่องการปรองดองและการนิรโทษกรรมการเมืองแก่นักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิด รวมถึงผู้ลี้ภัยได้แล้ว โดยนำกระบวนการและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธานและเสนอไว้อย่างครบถ้วนนำมาปรับใช้ก่อนจะสายเกินแก้ รวมถึงข้อเสนอคณะกรรมการอิสระเพื่อติดตามผู้สูญหายและช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และเป็นคณะกรรมการอิสระชุดแรกของประเทศไทยด้วย.