อดีตคณะกก.สร้างความปรองดองฯ ออกแถลงการณ์เรียกร้อง ‘นายกฯประยุทธ์’ ปลดล็อกความขัดแย้ง หลอมรวมคนไทยทุกภาคส่วน เดินหน้านิรโทษกรรม

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 และอดีตคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อ 21 มิ.ย. 2563 เรื่อง ” “หยุดฉีกสัญญาประชาคม แบ่งแยกแล้วปกครอง เดินหน้าสู่การปรองดอง หลอมรวมคนไทยทุกภาคส่วน”

โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า จากกรณีที่มีรายงานว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งให้ทีมงานไปรวบรวมรายชื่อบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีการเมืองทั้งหมดเพื่อนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการนิรโทษกรรมคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง แต่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกลับปฏิเสธว่าไม่มีมูลความจริงนั้น คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 มีข้อเสนอแนะและข้อเรียกร้องดังนี้

1.เป็นที่น่าเศร้าอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทยที่มีความแตกแยกและขัดแย้งทางการเมืองมาอย่างยาวนาน แต่รัฐบาลไม่มีนโยบายหรือแนวทางการสร้างความสมานฉันท์และการปรองดองที่เป็นรูปธรรมเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยไปข้างหน้า ทั้งที่ คสช.ยึดอำนาจเมื่อวันที่22พ.ค.2557 ได้ประกาศเป็นสัญญาประชาคมว่า จะเข้ามายุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จะทำให้ประชาชนในชาติเกิดความรักความสามัคคีตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ จากนั้นได้ตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) และคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองโดยตรงเพื่อรับฟังปัญหาจากพรรคการเมืองและภาคประชาชนทุกฝ่ายแต่ที่ผ่านมากลับไม่ให้ความสำคัญและเสนอแนวทางแก้ไขความขัดแย้งที่เป็นรูปธรรม นอกจากนี้คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ศึกษาแนวทางและข้อเสนอแนะแนวทางการสร้างความปรองไว้อย่างครบถ้วนซึ่งได้ส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ให้รัฐบาลแล้วแต่รัฐบาลกลับไม่ดำเนินการแต่อย่างใด ล่าสุดยังออกมาปฏิเสธอีก ถือว่าเป็นการหลอกลวงประชาชนทั้งประเทศและฉีกทิ้งสัญญาประชาคมหรือไม่

2.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ และเดินหน้าปฏิรูปประเทศและสร้างความสมานฉันท์ปรองดองแห่งชาติ ก่อนที่จะสายเกินไป โดยมีข้อเสนอแนวทางการปรองดองและสมานฉันท์ที่ชัดเจน เพื่อแก้ไขความขัดแย้งในอดีตและเดินหน้าพัฒนาการประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการนิรโทษกรรมการเมืองแก่นักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิด รวมถึงผู้ลี้ภัยทางการเมืองต่างๆ โดยนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ภายใต้สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ได้ศึกษาไว้แล้ว รวมถึงกระบวนการและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ซึ่งได้เสนอไว้อย่างครบถ้วน เพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ นำหลักความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ มาใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของคนในชาติ

3.ขอเรียกร้องให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมสนับสนุนการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ตามแนวทางของคณะกรรมการศึกษาแนวทางทางการสร้างความปรองดอง สปช. เริ่มต้นด้วยการนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ไม่รวมถึงการกระทำความผิดอาญาโดยเนื้อแท้ ความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชัน และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งต้องดำเนินการตามขั้นตอนหลายประการ มุ่งเน้นฟื้นความสัมพันธ์ของคนในชาติ ให้เกิดสร้างความรักสามัคคี เพื่อถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา ในวันที่28ก.ค.2563นี้ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่รับฟังและทำตามข้อเรียกร้องของประชาชนหากดำเนินการสำเร็จจะถือเป็นวีรบุรุษ แต่หากไม่ดำเนินการแสดงว่าต้องการแบ่งแยกแล้วปกครองเพื่อสืบทอดอำนาจให้นานที่สุดจะกลายเป็นคู่ความขัดแย้งใหม่ของสังคมโดยตรงชัดเจนขึ้น และจะสร้างความขัดแย้งสะสมและรุนแรงขึ้นในอนาคต

4.กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เรื่อง “วิธีการทำงานแบบ New Normal ของนายกรัฐมนตรี” ระบุว่าจะผนึกประชาชนทุกภาคส่วนร่วมวางอนาคตประเทศ จะทำงานเริงชุกเพื่อเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศนั้นถือเป็นนิมิตหมายที่ดีแม้จะสำนึกช้าไปหลายปี แต่รัฐบาลจะไม่สามารถผนึกประชาชนทุกภาคส่วนได้เลยหากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังเรื้อรังและสร้างความปรองดองของคนในชาติ ดังนั้นรัฐบาลต้องดำเนินการแนวทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 78 หมวด 6 ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ และเร่งให้มีการปฏิรูปการเมืองอย่างเป็นระบบเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยและสร้างความสมานฉันท์ของสังคม

5.การปรองดองสมานฉันท์จะสำเร็จลุล่วงได้ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันต้องเปิดใจกว้างให้อภัยซึ่งกันและกัน พร้อมให้ความร่วมมือ และต้องทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง อย่าให้มีวาระซ่อนเร้นเหมือนครั้งที่มีการผลักดัน พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแบบสุดซอย จนนำไปสู่ความขัดแย้งบานปลาย ดังนั้นจึงขอฝากถึงนายทักษิณ ชินวัตร ถ้าอยากกลับบ้านแบบเท่ๆต้องรู้จักการอดทนรอคอยและพิสูจน์ตัวเองให้ได้ก่อน ต้องเสียสละให้ประชาชนที่ร่วมชุมนุมเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมแต่กลับได้รับความทุกข์ทรมานให้ได้รับการเยียวยาและเกิดสามัคคีของคนในชาติก่อน จากนั้นคนในชาติจะพิจารณาเองว่าจะให้โอกาสนายทักษิณหรือไม่อย่างไร