‘จตุพร-ประธานนปช.’ แจงคดีบุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ ‘สำนวน 2’ โอกาสรอดเท่ากับศูนย์

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวในรายการลมหายใจ พีซทีวี เวทีทัศน์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า วันนี้จะสนทนาในหัวข้อที่ว่า “ก็เท่านี้” ตนเชื่อว่าพี่น้องผู้ร่วมชะตากรรมที่ได้ร่วมในการต่อสู้กันมานั้น กับข่าวที่กัลยาณมิตรร่วมรบจำนวน 5 คน ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาจำคุก 2 ปี 8 เดือนในคดี บ้านสี่เสาเทเวศร์ และต้องไปอยู่ในเรือนจำกรุงเทพฯ ส่วนตนนั้นอยู่ในสำนวนที่ 2 เพราะอัยการได้แยกฟ้อง

เดิมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ควรจะเป็นเรื่องกันได้เลย ซึ่งบรรดาตำรวจชุดเจรจา ซึ่งขณะนี้ก็เกษียณกันไปแล้ว มีหลายคนที่เกี่ยวข้องจากอยู่ฝ่ายตรงกันข้ามก็มาอยู่ในฝ่ายเดียวกัน และหลังจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เราก็พยายามทบทวนความจำทั้งหลาย ว่า หากไม่มีการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม แม้บนเวทีประกาศว่าจะอยู่กันจนรุ่งสางก็ตาม แต่ก็ได้คุยกับเจ้าหน้าที่ชุดเจรจา เพราะในขณะนั้นก็ไม่รู้ว่ามีมือที่ 3 เท้าที่ 4 เริ่มผสมกันมากมาย

คดีนี้เมื่อเข้าไปถึง จากชั้นพนักงานสอบสวน ไปสู่พนักงานอัยการปรากฏว่า อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ทำให้เรื่องถูกส่งกลับมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ในขณะนั้นก็พ้นจากตำแหน่ง พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในยุคนั้นก็มีความเห็นแย้งต่ออัยการ

เมื่อตำรวจกับอัยการมีความเห็นแย้งกัน ประมวลวิธีพิจารณาความอาญาก็ให้อำนาจเป็นของอัยการสูงสุด ในขณะนั้นคือนายชัยเกษม นิติสิริ เป็นผู้ชี้ขาดว่า สั่งฟ้อง

หลังจากนายชัยเกษม พ้นจากตำแหน่งก็มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสังกัดพรรคเพื่อไทย ดังนั้น การชี้ขาดของนายชัยเกษมว่าสั่งฟ้อง เป็นการสวนทางกับอัยการเดิม ทำให้มีการแยกเป็น 2 สำนวนฟ้อง

โดยสำนวนแรกคือบรรดาหมู่มิตรทั้ง 5 คนที่ศาลสั่งจำคุก 2 ปี 8 เดือน ส่วนสำนวนที่ 2 คือ ตน พันเอก ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย นายจักรภพ เพ็ญแข นายจรัล ดิษฐาอภิชัย และ มีบุคคลอื่นๆ ซึ่งคดีก็เดินหน้าต่อไปจนกระทั่งมีการยึดอำนาจ ก็มีการสั่งฟ้องตนคนแรกและมีประชาชนอีก 1 คน โดยมีการรายงานต่อศาลภายหลังมีการยึดอำนาจ ก็มีการจับตัวไปฟ้องศาล และตนได้บอกกับศาลว่า เมื่อได้รับหมายตนก็มาโดยไม่มีการจับกุมใดๆทั้งสิ้น

“อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็อยู่ในการพิจารณาต่อไปตามสำนวนที่ 2 โดยคดีนี้ที่ตนได้ไปนั่งฟังและให้กำลังใจบรรดาหมู่มิตรมานั้น เราเข้าออกคุกมา 4 รอบแล้วย่อมเข้าใจ และ ในการอ่านคำวินิจฉัยในคดี ก็พ่วงชื่อตนเป็นระยะๆ คนที่อยู่ในศาลก็รู้ว่า โอกาสรอดนั้นเท่ากับศูนย์ ในสำนวนที่ 2 ซึ่งตนในฐานะที่เคยเข้าออกคุก ได้พยายามเล่าให้กับพี่น้องฟังว่า ใครก็ตามเมื่อเข้าไปแล้วที่ตนเรียกว่า สุสานคนเป็นนั้น ก็ต้องไปอยู่ในบริบทที่เป็นคาถาประจำคุกว่า อยู่ให้เป็นเป็น เย็นให้พอ รอให้ได้”

นายจตุพร กล่าวต่อว่า สิ่งที่ตนปฎิบัติทุกครั้ง ก็คือจะต้องลืมว่าตนเองเป็นอะไรมา สองต้องไม่จินตนาการว่า ออกไปแล้วจะเป็นอะไร เพราะจะหลอกตัวเอง เรื่องที่ง่ายที่สุดเมื่ออยู่ข้างนอก จะกลายเป็นเรื่องที่ยากมากที่สุด เมื่อเราเข้าไปอยู่ในคุก และต้องทำตัวให้เล็กที่สุดเสมอ

ทั้งนี้ สัจจธรรมในการต่อสู้ ไม่ตายก็ติดคุกยังเป็นเช่นนั้น ตลอดระยะเวลาการต่อสู้กว่า 10 ปีมานั้นมีทั้งคนเจ็บ คนตาย และคนติดคุก หากยังจำกันได้ ตนมักจะปลุกและปลอบประชาชนเสมอว่า เวลาที่มีความสิ้นหวัง มีความทุกข์ให้นึกถึง พี่น้องที่อยู่ในเรือนจำที่เขาทุกข์กว่า และเมื่อตัวเองอยู่ในคุกก็บอกพี่น้องที่อยู่ในคุกว่า ให้นึกถึงประชาชนที่เสียชีวิต ครอบครัวเขาทุกข์กว่าเรา

“มีความพยายามเล่นเกมสกปรกโดยพยายามอธิบายว่า คดีนี้ตนรอดเพียงคนเดียวนั้นไม่เป็นความจริง เพราะเชื่อว่าตนไม่รอด เพียงแต่ตนพอยังมีเวลาเหลืออยู่บ้าง” นายจตุพร กล่าว

นายจตุพร ยังกล่าวอีกว่า ในคราวนี้หลายคนอยู่ในสังขารที่ไม่พร้อมจริงๆ คุณวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ติดคุกมากที่สุด ในวัย 72ปี และสุขภาพที่รู้จักกันมาค่อนชีวิต นี่เป็นห้วงเวลาที่สุขภาพที่ไม่ดีมากที่สุด ส่วนหมอเหวงก็เป็นโรคบ้านหมุน และอีกหลายโรค ด้านวิภูแถลงก็ไม่ได้แข็งแรงมากเท่าไหร่ นพรุจไม่ทราบป่วยอะไรบ้าง ณัฐวุฒิ หนุ่มที่สุดพอที่จะแข็งแรงมากกว่าคนอื่น อีกฝ่ายหนึ่ง สังขารก็ไม่แพ้กัน หนักเบาไม่ต่างกัน

นายจตุพร กล่าวด้วยว่า ตลอดการต่อสู้ของทุกฝ่ายในห้วงกว่า10 ปีนี้ไม่ควรจะมีใครต้องมาติดคุก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม เพราะแต่ละฝ่ายแม้ความเชื่อจะแตกต่างกัน แต่การต่อสู้ทางการเมืองไม่มีเรื่องส่วนตัวใดๆกันทั้งสิ้น และที่ผ่านมาตนเคยพูดเสมอว่า หมู่มิตรที่ร่วมต่อสู้กับตนมา เมื่อ 28 ปีที่แล้ว ในปีพศ. 2535 ต่างก็แยกไปเวทีฝ่ายต่างๆ ไม่เคยมีเรื่องส่วนตัวกัน

ดังนั้นการต่อสู้ตามความเชื่อ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วนั้นตนมักจะพูดเสมอว่า เมื่อศาลพิพากษาคนเสื้อเหลืองตนก็ร้องขอคนเสื้อแดงว่า อย่าไปสะใจ เพราะเมื่อถึงคราวคนเสื้อแดงติดคุก เราก็จะเห็นความสะใจจากคนเสื้อเหลือง

“เราต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อน ให้รักษาพื้นที่ความเป็นมนุษย์เอาไว้ เอาให้มากที่สุด เพราะทุกคนจะติดคุกมากน้อยก็ตาม มันก็คือคุก” นายจตุพร กล่าว.