นายกฯ ยืนยันประชาชนต้องได้รับประโยชน์จากงบประมาณ ยึดหลักการใช้งบฯอย่างรอบคอบ โครงการ แผนงานต้องสอดคล้องกับสถานการณ์

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ต่อสภาผู้แทนราษฎร วานนี้ว่า งบประมาณจาก พ.ร.ก. กู้เงินฯ ราว 4 แสนล้านบาทที่จะทยอยนำมาใช้ในการเยียวยาประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ อยู่ในช่วงของการพิจารณาโครงการที่จะต้องผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการ รวมถึงต้องผ่านการคัดกรองจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดแผนงานที่ชัดเจนในการเบิกจ่ายงบประมาณ หากแผนงานโครงการไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ก็จะไม่ผ่านการอนุมัติ แต่วงเงินยังคงอยู่

นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายส่วนหนึ่งของการใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก. กู้เงินฯ เพื่อให้ภาคธุรกิจ SMEs ขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถดำเนินต่อไปได้ เนื่องจากทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ รัฐบาลจึงต้องร่วมมือกับภาคธุรกิจในการฟื้นฟูเยียวยาประชาชน ส่งเสริมให้มีการจ้างงานต่อไป รวมถึงคำนึงถึงธุรกิจฐานราก ประชาชนที่มีรายได้น้อย ไม่มีหลักประกัน ให้สามารถเข้าถึงเงินทุนผ่านการกู้ยืม จึงได้จัดทำมาตรการ Soft Loan พร้อมระมัดระวังหนี้ที่อาจไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หนี้สาธารณะไม่ให้เพิ่มมากขึ้น เพราะเงินทุกบาทของกองทุนหรือธนาคาร เป็นเงินที่ประชาชนนำมาฝาก จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและระมัดระวัง

นายกรัฐมนตรียังย้ำต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชน ปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ ถนน ลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน การสนับสนุนเกษตรกร ทำการเกษตรเพื่อเป็นแหล่งอาหารโลก เน้นลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน ขยายตลาดในการขายสินค้า ทั้งนี้ ประเทศไทยจะต้องเตรียมเปิดรับการลงทุนของชาวต่างชาติ และการเปิดรับแรงงาน ซึ่งจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย และไม่กระทบต่อทรัพยากรของคนไทย

พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้เตรียมจัดหางบประมาณ การจัดเก็บภาษี ด้วยระบบระบบดิจิทัลเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงอาจมีการปรับ/เพิ่ม หน่วยงานที่มีความจำเป็นและมีประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อรองรับสิ่งใหม่ ๆ ในประเทศไทย นายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลได้เตรียมฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คือ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) ประกอบไปด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมประเทศด้วย

ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/33020