สะท้อนอะไร ‘จตุพร’ ชี้เป็นเรื่องแปลกประหลาดที่สุด เมื่อทุกฝ่าย-ทุกพรรคการเมืองไม่ขานรับการ ‘ยุบสภา’

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ PEACETALK เมื่อวานนี้ว่า หลังจากนายสมคิดและทีม 4 กุมาร ถูกการเมืองกดดันอย่างหนักให้พ้นจากรัฐมนตรี จนเสนอความคิดให้ยุบสภา โดยยกประเทศสิงคโปร์ ประกาศยุบสภามาเปรียบเทียบเพื่อเป็นแนวทางเลือก

“ปกตินายสมคิด เป็นคนถนอมตัวมาตลอด การแสดงความคิดเห็นการเมืองจะไม่รุนแรงแบบพุ่งชน หรือให้เกิดการตอบโต้ถึงขั้นเป็นอันตรายกับตัวเอง นอกจากนี้ในทางการเมืองมีการเปรียบเปรยถึงขั้นว่า ให้ไปเก็บมะม่วงเต็มต้น เมื่อเห็นมดแดงก็ถอยแล้ว นั่นสะท้อนถึงไม่ต้องการความเสี่ยง หรือให้ตัวเองเจ็บตัว ดังนั้น ท่วงทำนองของนายสมคิด ถ้าเสี่ยงแล้วจะไม่ทำ”

อย่างไรก็ตาม แต่เมื่อนายสมคิดแสดงความเห็นเชิงเปรียบถึงให้มีการยุบสภานั้น ปรากฎว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตอบโต้เป็นพรรคแรก และไล่ให้พ้น ครม.กันเสีย ส่วนพรรคอื่น ประชาธิปัตย์ โดยนายเทพไท เสนพงษ์ มองถึงการได้เปรียบคะแนนนิยมในช่วงแก้ปัญหาโควิด สำหรับพรรคเพื่อไทย กลับไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา เพราะไม่พร้อม รวมความแล้วทุกพรรคการเมืองไม่ขานรับการยุบสภา ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าแปลกใจมาก

“ผมว่าท่วงทำนองของนายสมคิด ที่เปลี่ยนไปนั้นไม่ธรรมดา หากพิจารณาผลโพลแล้วในทุกสัปดาห์เป็นคุณกับกลุ่มนายสมคิดและ 4 กุมารมากกว่า ดังนั้น คงจะประเมินแบบดูแคลนเหมือนเดิมคงไม่ได้แล้ว”

นายจตุพร กล่าวว่า ส่วนการคาดการณ์ ปรับ ครม. หลัง ร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายปี 2564 ผ่านสภานั้น ขณะนี้มีการประเมินจะมีขึ้นในเดือนสิงหาคม แต่จากนี้ไปสถานการณ์ของประเทศก่อนถึงเดือนสิงหาคม คงจะเจอปัญหาอย่างไม่มีใครคาดคิดกัน เพราะภาวะเศรษฐกิจคงตกต่ำ ทรุดลงและก่อกระทบกันทุกวงการ

อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจใน 2 ปีนี้ยากจะฟื้นได้ ดังนั้น เมื่อการปรับ ครม.ขยายเวลาไปถึงสิงหาคมอาจทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปด้านลบ กระทั่งคงทำให้การปรับ ครม.เกิดได้ยากขึ้น จึงเท่ากับทีมเศรษฐกิจชุดเก่าได้ฉายศักยภาพการทำงานอยู่แก้ปัญหากันต่อไป

อีกอย่าง หากการปรับ ครม.ถูกลากจากเดือน ก.ค.ไปแล้ว ยิ่งจะทำให้การเกิดการเปลี่ยนแปลงยากยิ่งขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันพรรคการเมืองต่างๆยังไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา รวมทั้งการเมืองภายใต้ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังไม่เอื้ออำนวยกับสถานการณ์ของประเทศไทยด้วย

โดยรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ได้ฉายาว่า ปราบโกง และเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น เป็นปรากฎเดดล็อคทำให้ผลลัพธ์การเลือกตั้งไม่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวทำให้ทุกพรรคได้ประโยชน์หมด ยกเว้นพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

ประกอบกับการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยแก้มาตรา 256 เปิดช่องให้มีคณะที่เรียกว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ผ่านการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนขึ้นมาเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้ยังเป็นแค่ความพยายามของสาธารณะ แต่ในความเป็นจริงแล้วคงเกิดขึ้นได้ยากอีกเช่นกัน ส่วนชุดคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นมานั้น สุดท้ายคงได้แค่การศึกษาและไม่เกิดผลทางปฏิบัติเป็นจริงเลย เนื่องจากมี ส.ว. 250 เสียงเป็นอุปสรรคขวางกั้นอยู่

ด้วยเหตุนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญหากไม่แตะอำนาจของ ส.ว.ก็ไม่รู้จะแก้ไปทำไม ที่สำคัญสถานการณ์ของประเทศจากนี้ไป ต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจว่าจะลุกลามกันถึงขนาดไหน รวมทั้งถ้าลากไปถึงกลางเดือนหน้าแล้ว การปรับ ครม.จะเกิดขึ้นมาได้หรือไม่

“หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกิดเชื่อนายสมคิดขึ้นมา แล้วตัดสินใจยุบสภาเพื่อหนีภาวะวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรง แต่ผมก็ไม่เชื่อว่า จะมีการเลือกตั้งขึ้น เพราะสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจไม่เอื้อกับประเทศไทยเลย ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ไทยประสบกับความยากลำบากมากที่สุด และในอดีตมีเหตุบ่งชี้แล้วว่า ยุบสภาก็ไม่ได้เลือกตั้ง”

อีกอย่างในด้านงบประมาณรายจ่ายปี 2564 ที่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่า ไม่สอดคล้องกับการแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด แล้วมีการกู้เพิ่มมาโปะงบขาดดุลกันอีก ตนไม่แน่ว่ายังจะมีการกู้เพิ่มอีกเท่าไร เพราะเศรษฐกิจในช่วงนี้การเก็บภาษีไม่มีทางได้ตรงเป้าหมาย ดังนั้น หนทางเดียวคือ การกู้เงินมาใช้นั่นเอง

“ปัญหาคือ การยุบสภาจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้จริงหรือเปล่า ผมเชื่อว่า เราไม่มีทางเทียบเท่าสิงค์โปร์ได้เลย การเมืองของเขามีความต่อเนื่อง การยุบสภาของเขาใช้เป็นเทคติกทางการเมือง ส่วนประเทศไทยเสื่อมทรุดก่อนจึงยุบสภา รวมทั้งมีกลไกเป็นปัญหารอบด้าน ดังนั้น การยุบสภาแบบสิงค์โปร์จึงนำมาใช้กับไทยไม่ได้ และถ้ามีการยุบสภาจริง ก็อย่าคิดว่าจะมีการเลือกตั้ง”

นายจตุพร ย้ำว่า ทุกฝ่ายและทุกพรรคการเมืองไม่ขานรับการยุบสภาเลย จึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่สุด นั่นเท่ากับชี้ถึงประเทศอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก จึงรอกันได้ พร้อมกับประคับประคองบรรยากาศบ้านเมืองกันไป

ดังนั้น แม้ทุกฝ่ายพอคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่เรากำลังเดินไปสู่หายนะที่หลีกไม่พ้น เท่ากับถูกบังคับให้ต้องจบลงกันอย่างไร แต่อยู่ที่ว่าจะแก้ไขปัญหาเพื่อหลบเลี่ยงกันได้หรือเปล่า

“ผมพยายามสร้างบรรยากาศการแสดงความเห็นในช่วงนี้ ให้มีความสร้างสรรค์ พยายามเสนอมุมมองเป็นทางออกให้ประเทศ เพราะสิ่งสำคัญคือ เมื่อรู้กันทุกฝ่ายว่า ประเทศไปกันไม่รอด โดยนายกรัฐมนตรีเสนอรวมไทยสร้างชาตินั้น ต้องมีแนวทางปฏิบัติให้เกิดความร่วมมือกันจริง เนื่องจากการเมืองเดินมาถึงจุดที่ว่า ถ้าไม่ร่วมมือกันก็พังกันทั้งประเทศ เพราะทุกปัจจัยไม่เอื้ออำนวยกับสถานการณ์ขณะนี้ จึงควรต้องคิดว่า เราควรจะอยู่กันอย่างไร”