‘ปิยบุตร’ ชำแหละรัฐธรรมนูญ 60 ‘อัปลักษณะ 3 เรื่อง’ ลั่นถึงเวลาร่วมกันหาฉันทามติใหม่ของสังคม

นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก โดยมีรายละเอียดดังนี้

[ รัฐธรรมนูญ 60 เป็นอัปลักษณะ 3 เรื่อง – ถึงเวลาร่วมกันหาฉันทามติใหม่ของสังคม ]

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าและอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ บรรยายพิเศษออนไลน์ หัวข้อ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กับการเมืองไทย” จัดโดย สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

ปิยบุตร อธิบายว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาทั้ง 3 มิติ ทั้ง ที่มา กระบวนการจัดทำ และเนื้อหา ที่ทำให้เกิดปัญหาความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย

ในด้านที่มา รัฐธรรมนูญ 60 เกิดขึ้นมาอย่างสืบเนื่องไร้รอยต่อจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2557

แม้ว่าการยึดอำนาจจะเป็นสิ่งผิดกฎหมายตามรัฐธรรมนูญและมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 113 แต่สาเหตุที่ผู้ก่อรัฐประหารกล้าทำคือเมื่อยึดอำนาจเสร็จแล้ว คณะรัฐประหารจะตั้งตนเป็นรัฐาธิปัตย์หรือผู้มีอำนาจสูงสุดแล้วก็นิรโทษกรรมตัวเอง การรัฐประหารจึงกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีความผิด เพราะพวกเขายกโทษให้กับตัวเองเป็นที่เรียบร้อย

รัฐธรรมนูญ 60 เกิดมาจากตรงนี้ ที่มาจึงไม่ชอบธรรม ในขณะเดียวกันเขาอาจจะบอกว่าอย่าไปสนใจมากเลย ถึงเขามาโดยไม่ชอบแต่เขากำลังมาทำสิ่งดีๆ ให้ประเทศ แม้เขาจะเริ่มต้นด้วยการทำผิดกฎหมาย แต่ขอเวลาอีกหน่อย ดังนั้นจึงต้องมาดูข้อต่อไป นั่นคือ กระบวนการจัดทำ

กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ 60 เกิดจากการที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ซึ่งเป็นฉบับหลังการรัฐประหารได้ออกแบบกระบวนการเอาไว้ ถือเป็นครั้งแรกที่สามารถแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้ได้ตลอดเวลาในช่วงตอนเริ่มต้นนักกฎหมายของคณะเผด็จการอ้างถึงแม่น้ำ 5 สาย เพื่อมาออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. โดยมี นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ ยกร่าง แต่พอนำเข้าสู่ สนช. ท้ายที่สุดไม่เอา จึงตกไปทั้งฉบับ คสช. ก็ได้อยู่ต่อ แล้วก็ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่อีก คือชุดของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ โดยที่กระบวนการร่างแทบไม่มีประชาชนอยู่ในนั้น เพราะทิศทางถูกบังคับไปตามที่รัฐธรรมนูญ 57 วางเอาไว้ แล้วค่อยไปแต่งหน้าทาปากให้ชอบธรรมมากขึ้นผ่านการลงประชามติ

หากไปดูกระบวนก็จะพบว่าไม่ใช่การประชามติที่ได้มาตรฐานตามแบบประชาธิปไตย เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นภายใต้การควบคุมของ คสช. เห็นชัดเจนว่า ฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไม่มีเสรีภาพในการรณรงค์ หลายคนโดนคดี หลายคนยังต้องขึ้นโรงขึ้นศาลจนถึงตอนนี้ เป็นการชงกันเอง กินกันเอง ว่ายเวียนกันอยู่ใน คสช. กับพวก จนออกมาเป็นรัฐธรรรมนูญ 60

ส่วนในด้านเนื้อหา กระบวนการที่ทำให้ คสช. สืบทอดอำนาจทำได้สำเร็จ คือลดทอนอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง ลดทอนอำนาจประชาน แล้วเพิ่มอำนาจองค์กรอื่นที่ไม่ยึดโยงประชาชนเข้าไป สุดท้ายก็ไม่สามารถสร้างความสมานฉันท์แก้ไขวิกฤติทางการเมืองได้

ลักษณะของรัฐธรรมนูญ 60 เป็น อัปลักษณะใหญ่ๆ 3 เรื่อง คือ หนึ่งเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจ คสช. สองเป็นเครื่องมือทำให้การรัฐประหารถูกต้องตามรัฐธรรมนูญตลอดกาล และสามคือการพาสังคมการเมืองไทยให้ย้อนกลับไปเป็นแบบสมัย พ.ศ.2521

อัปลักษณะประการแรก การเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ คสช. วิธีการที่ฝ่ายยึดอำนาจทำเสมอก็คือ การเขียนรัฐธรรมนูญมาช่วยตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อช้อน ส.ส. ให้ยกมือมาสนับสนุนตัวเองกลับไปเป็นรัฐบาลใหม่ สร้างกลไกต่างๆ ที่เอื้อให้ทำได้ กระบวนการลักษณะนี้ทำกันมาแล้วหลายครั้งหลายหน

ครั้งนี้วงล้อประวัติศาสตร์ก็หมุนกลับมาที่เดิม คือต้องมีรัฐธรรมนูญถาวรที่ประกันได้ว่าเขาจะกลับมาอีก แต่ครั้งนี้ออกแบบมหัศจรรย์อย่างเหลือเชื่อที่สุดคือให้มีวุฒิสภา 250 คนใน 5 ปีแรก เลือกโดยหัวหน้า คสช. แล้วก็ให้โหวต พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ ได้ นี่เป็นครั้งแรกที่เขียนนกลไกการสืบทอดอำนาจออกมาชัดเจนแบบนี้

อัปลักษณะประการต่อมา คือการทำให้การรัฐประหารชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ใช้วิธีเขียนฝังไปในรัฐธรรมนูญมาตราสุดท้ายที่รับรองว่าประกาศคำสั่งต่างๆ ตั้งแต่อดีต ปัจจุบันและเกี่ยวเนื่องไปในอนาคต ถือว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ 60 ทุกประการ เวลาดูรัฐธรรมนูญฉบับหลังรัฐประหารแนะนำว่าให้เปิดมาตราสุดท้ายมาดูก่อน เพราะของไม่ดีจะไปซุกอยู่ในมาตราสุดท้ายหรือในบทเฉพาะกาล ซึ่งส่งผลพิษร้ายคือทำให้การกระทำของ คสช. ทั้งหมดไม่มีทางผิดตามรัฐธรรมนูญ เพราะมาตรา 279 บอกเอาไว้แล้วว่า ชอบตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งนั่นยังไม่นับรวมกลไกอย่างยุทธศาสตร์ชาติแผนปฏิรูปประเทศที่ฝังเข้าไปอีกชั้น

อัปลักษณะประการสุดท้าย คือการทำให้สังคมการเมืองไทยย้อนกลับไปเป็นแบบปี 2521- 2531 หรือ ประชาธิปไตยครึ่งใบ เพราะกลัวว่าถ้าเป็นประชาธิปไตยเต็มใบก็จะเสียอำนาจ จึงทำให้มีการเลือกตั้งที่เป็นเพียงเครื่องประดับสวยๆ แต่การคุมอำนาจยังเป็นของกองทัพและข้าราชการประจำ สมัยนั้นจึงมีการเลือกตั้งทุกครั้ง แต่หัวหน้าพรรคการเมืองจะไม่ยอมเป็นนายกฯ แต่เชิญให้ พล.อ.เปรม มาเป็น มี ส.ว. และข้าราชการประจำมานั่งเต็มไปหมด นักการเมืองยอมสวามิภักดิ์ การเมืองไม่มีเสถียรภาพ แบ่งเป็นกลุ่มก๊วนต่อรองผลประโยชน์ต่อรองเก้าอี้ แต่หัวที่มีอำนาจคอยคุมอยู่ก็คือกองทัพ

รัฐธรรมนูญคือเครื่องแสดงออกหรือเป็นเหมือนใบแจ้งเกิดของการเกิดระบอบใหม่ รัฐธรรมนูญจะไปก่อตั้งสถาบันการเมืองเพื่อใช้อำนาจอธิปไตย จะบอกว่าสถาบันการเมืองเหล่านี้มีอำนาจอะไรบ้าง จะบอกถึงความสัมพันธ์กันอย่างไรตามการแบ่งแยกอำนาจให้ได้สมดุล จะมีเรื่องของการประกันสิทธิเสรีภาพว่ารัฐจะไม่เข้าไปล่วงละเมิดอะไร อย่างไร

ในทางรูปแบบรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด หมายความว่า เป็นแม่ของกฎหมายและสถาบันการเมืองทั้งปวง ตั้งแต่ประมุขของรัฐ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ นัยยะนี้เอง สถาบันการเมื่องจึงมีอำนาจเท่าที่รัฐธรรมนูญบอกให้มีได้ รัฐธรรมนูญจึงเป็นทั้งบ่อเกิดและข้อจำกัดการใช้อำนาจ เราจึงต้องบอกว่ารัฐธรรมนูญอยู่เหนือที่สุด ดังนั้น รัฐธรรมนูญที่ดีจึงต้องผ่านการตกลงร่วมกันของประชาชนหรือเป็นฉันทามติของประชาชนทั้งประเทศที่พร้อมยอมรับกติกาแบบนี้ และต้องมีวิสัยทัศน์ไปว่าถึงเป็นฝ่ายแพ้ ไม่มีอำนาจ รัฐธรรมนูญก็ยังประกันสิทธิเสรีภาพไว้ ไม่ใช่มองในแง่เป็นเครื่องมือปราบปราม ถ้าเป็นแบบนี้คือ คนชนะกินรวบทั้งกระดาน คนแพ้รอวันเอาคืน ไม่ได้เป็นฉันทามติร่วมกันของสังคม

ตลอด 6 ปี ของ คสช. พวกเขามองรัฐธรรมนูญในฐานะเป็นเครื่องมือหรืออาวุธในการใช้อำนาจเท่านั้น ไม่เคยมองในแง่ความคิดหรือเป็นคุณค่าที่ต้องยึดถือร่วมกัน ถ้าเป็นประโยชน์ก็หยิบมาอ้าง ถ้าต้องการทำให้อะไรถูกก็บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ประกาศคำสั่งต่างๆ แต่เมื่อประชาชนบอกว่า คสช. ทำผิดรัฐธรรญนูญ ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ไม่เคารพประชาชน ก็จะอ้างเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องการห้ามชุมนุมจะบอกว่ารัฐธรรมนูญให้สิทธิไว้ก็จริงแต่ต้องไปดูกฎหมายอื่นด้วย ดังนั้นจึงมีความยอกย้อนกัน

เรื่องสำคัญที่สุดในบริบทปัจจุบันคือ ต้องหาฉันทมติร่วมกันของสังคมไทยให้ได้ ที่ผ่านมาเราใช้เวลามามากกว่าทศวรรษแล้วแต่ยังหาฉันทมติไม่เจอ ครั้งสุดท้ายคือรัฐธรรมนูญ 40 สังคมไทยบอกว่าไม่เอาแล้วกับรัฐบาลทหาร มีทหารเป็นนายก ไม่เอาแล้วรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ตั้งๆ ยุบๆ แต่ส่งต่อนโยบายไม่ได้ ไม่เอาแล้วกับการที่ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพ เพียงแต่ว่าหลังจากนั้นประชาชนได้เสียความเชื่อมั่นไป จนบางพวกจึงไปเรียกร้องให้มีการยึดอำนาจ ซึ่งวันนี้ก็ยังทำผิดอยู่แบบนี้อยู่ แทนที่จะไปนั่งคุยกันใหม่ว่าฉันทามติร่วมกันคืออะไร อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ 40 เมื่อใช้ไปสักพักแล้วมีปัญหาจริง มีการครอบงำ ส.ว. และองค์กรอิสระจริง แต่หลังการยึดอำนาจกลับกลายเป็นยิ่งกว่าครอบงำเสียอีก ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร ทางออกเดียวคือ ต้องหาฉันทามิติเพื่อเป็นทางออกร่วมกันให้ได้ ถ้าคนรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญเป็นของฉัน ฉันมีส่วนร่วมปกป้อง เขาก็จะหวงแหนรัฐธรรมนูญขี้นมา

เรียบเรียงและโพสต์โดยทีมงาน

#คณะก้าวหน้า #รัฐธรรมนูญใหม่