อดีตป.ป.ช.-ผู้พิพากษา เปิดประเด็นร้อนเขย่า ‘องค์กรอิสระ’ ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

ในการเสวนาหัวข้อ “องค์กรอิสระไทย อย่างไรต่อดี?” จัดโดยเพจ New Consensus Thailand ที่ชั้น 5 อาคารไทยซัมมิท ทาวเวอ เมื่อวานนี้( 4 ก.ค.63) นางสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและอดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แสดงความคิดไว้น่าสนใจดังนี้

กระบวนการตรวจสอบขององค์กรอิสระเกิดขึ้นเริ่มต้นมาตั้งแต่หลังยุค 14 ตุลาฯ 2516 ถ้าเราย้อนไปดูก่อนหน้านี้ ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารจะมีเหตุผลหนึ่งคือมีการทุจริตเกิดขึ้นมากจึงต้องเข้ามาจัดการ แต่ประวัติศาสตร์ก็บอกเราว่าทุกคณะรัฐประหารต่างก็มีปัญหาการทุจริตเช่นกัน เรามักจะพบเสมอว่าบรรดานายพลที่ก่อรัฐประหารมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลหลังลงจากอำนาจ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ได้มีการตั้งองค์กรขึ้นมาคือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ป.) ขึ้นมา ต่อมาจึงมีการตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ปัญหาคือที่มาของกรรมการสรรหา มีการเข้ามาเกี่ยวข้องของฝ่ายบริหารมากเกินไป มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางนี้เรื่อยๆ จนมาถึงปัจจุบัน ในที่นี้ต้องยอมรับว่าการเมืองมีส่วนสำคัญมาก แต่ส่วนตนที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช.มาก่อน เห็นว่าแม้นักการเมืองซึ่งมีอิทธิพลเข้ามายุ่งกับกรรมการ ป.ป.ช. แต่ถ้าตัวกรรมการไม่ยุ่งด้วย ไม่เปิดทางให้ การเมืองก็เข้ามายุ่งไม่ได้ ดังนั้น ตัวกรรมการก็มีความสำคัญ ถ้าใจแข็งเขาก็ยุ่งกับเราไม่ได้ ป.ป.ช.ต้องทำงานตามกฎหมาย ถ้าพยานหลักฐานมันไปไม่ถึงเราก็ไปกล่าวหาเขาไม่ได้ เราต้องธำรงความยุติธรรม ตายก็นอนตาหลับ

“เรื่องสำคัญ คือเราจะทำอย่างไรที่จะได้ผู้มาดำรงตำแหน่งที่เป็นคนดี ประเด็นก็คือ ป.ป.ช.เป็นผู้ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ เพราะฉะนั้น จะเกี่ยวข้องกับรัฐไม่ได้เลย การที่เราจะได้กรรมการในองค์กรอิสระที่ดีต้องเริ่มตั้งแต่กรรมการสรรหา ในรัฐธรรมนูญปี 40 กรรมการคัดสรรประกอบด้วยประธานศาล, อธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐเลือกกันเองให้เหลือ 5 คน, และมีกรรมการสรรหาที่มาจากพรรคการเมืองที่มีผู้แทนในสภา เลือกกันเองให้เหลือ 5 คน รวม 15 คน แต่ตอนนี้เรามีประธาน 3 ศาล ประธานสภา ผู้นำฝ่ายค้าน รวมแค่ 5 คน แต่ส่วนตัวคิดว่าทำไมเราไม่เลือกตั้ง ให้ประชาชนเลือกเลยทั้งหมด จนมีคนแย้งมาว่าให้ประชาชนเลือกเข้ามาไม่ได้ เพราะอาจจะเกิดปรากฏการณ์แบบสภาผัวเมียขึ้นอีก แต่ส่วนตัวก็คิดว่าแล้วถ้าครอบครัวนี้เป็นคนดีทั้งครอบครัว ประชาชนเลือกเขามาแล้วทำไมจะเข้ามาไม่ได้ ถ้าให้ประชาชนเลือกจะสวยงามมาก ไม่ได้มาจากคนมีอิทธิพล คนที่มาตรวจสอบอำนาจของรัฐจะให้คนของรัฐเลือกได้อย่างไร ไม่ควรที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง ” นางสมลักษณ์ กล่าว

นางสมลักษณ์ กล่าวอีกว่า กระบวนการที่ประชาชนจะสามารถตรวจสอบการทำงานของ ป.ป.ช. ซึ่งในอดีตกระบวนการตรวจสอบถอดถอน ป.ป.ช.เต็มไปด้วยความยุ่งยาก ต้องรวมรายชื่อประชาชนไปยื่นที่สภา แต่ว่าการตรวจสอบวันนี้ ศาลฎีกาได้วางแนวทางไว้แล้วว่าประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบของ ป.ป.ช.สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับศาลฎีกาได้ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีที่ศาลฎีกาได้ชี้ช่องเอาไว้แล้ว