อดีตสหายปูน ฟันธง ‘ม็อบเยาวชนคนรุ่นใหม่’ พลิกสถานะจาก ‘จำเลย’ กลายเป็น ‘โจทก์’

อาจารย์ธิดา ถาวรเศรษฐ ที่ปรึกษาแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) อดีตสหายปูน ให้สัมภาษณ์ถึงการเคลื่อนไหวของมวลชนที่เปลี่ยนเป้าหมายจากปฏิรูปสถาบันฯ มาเป็นต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

วันนี้เรามาคุยกันในสถานการณ์ซึ่งน่าเป็นห่วงกังวลมากนะคะ ครั้งที่แล้วดิฉันได้เขียนบทความ ในบทความนั้นพูดเรื่องผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คือผลที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทย ในส่วนของกลุ่มเยาวชนก็จะมี 2 อย่าง อย่างหนึ่งก็คือว่า เกิดบรรยากาศความกลัว สามารถที่จะทำให้สยบความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ได้ อันนั้นเป็นไปตามคาดของสิ่งที่อดีตตุลาการหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านได้พูดเอาไว้ นั่นก็คือมีเป้าหมายที่จะปราม เพราะว่าในคำวินิจฉัยพูดถึงอนาคตด้วย หรืออีกอันหนึ่งมันเกิดเหตุการณ์ที่ตรงข้ามกันเลย นั่นก็คือยิ่งเกิดความรุนแรงมากขึ้น นี่ในส่วนของเยาวชน

เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น มีการนัดชุมนุมแล้วก็มีการแสดงออกถึงความไม่สบายใจ ความไม่เชื่อมั่น ความไม่เห็นด้วย ในดีกรีที่จากน้อยไปจนกระทั่งถึงสูงมาก ต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไล่ตั้งแต่ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ ไล่มาจนกระทั่งถึงผลงานในอดีตในการยุบพรรคการเมืองและในการตัดสินเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งเป็นคุณต่อฝ่ายจารีตนิยม ต่อฝ่ายอำนาจนิยม จัดการกับผู้เห็นต่าง ก็มีคนไล่มาเป็นลำดับ

แปลว่าเกิดความไม่เชื่อมั่นอย่างรุนแรง จึงเกิดปฏิกิริยารุนแรง

ในส่วนของฝ่ายจารีตนิยม พอเห็นปฏิกิริยาว่ามีความไม่เชื่อมั่น มีความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง ก็ใช้ความรุนแรงอย่าง คุณศรีสุวรรณ จรรยา พูดว่า “คุก คุก คุก” นั่นหมายถึงสำหรับเยาวชนที่ออกมา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ว่าจริงก็คือเป็นไปตามที่ดิฉันคาดไว้ นั่นก็คือสำหรับกลุ่มเยาวชนเขาไม่สามารถที่จะยอมสยบได้ พูดง่าย ๆ ว่าประมาณเหมือนทิ้งระเบิดพลีชีพกันนั่นแหละ เพราะว่าถ้าเป็นไปตามกฎหมายเดิม เป็นไปตามแบบเดิมของระบบและระบอบที่เป็นอยู่นี้ กลุ่มของพวกเขา ขณะนี้ถูกคิดบัญชีด้วยกฎหมายแบบเดิม ด้วยขนบแบบเดิมของกระบวนการยุติธรรมไทย ไล่ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ไปถึงตุลาการ เขาสาหัส เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นน่าเป็นห่วง แต่ดิฉันคาดเอาไว้ว่าจะเป็นเช่นนั้น

นี่คือปรากฎการณ์ที่เห็น แต่วันนี้ที่ดิฉันอยากจะพูดในเชิงหลักการด้วยก็คือว่า “เมื่อเยาวชนเปลี่ยนเป้าหมายจากการปฏิรูปสถาบันฯ มาเป็นการต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์”

อันนี้เราจะเห็นชัดว่าการแสดงออกของเยาวชนผ่านเพียงวันสองวันเท่านั้น เขาพลิกตัวจากในฐานะจำเลย จำเลยในการที่ปฏิรูปสถาบันฯ แล้วกลายเป็นกบฏ กลายเป็นการล้มล้างสถาบันฯ เป็นการทำลายความมั่นคงของประเทศ มีเป้าหมายที่จะล้มล้างสถาบันฯ เขาก็พลิกเปลี่ยนจากที่เขาเป็นจำเลย เขามาเป็นโจทก์แล้ว ก็คือเป็นโจทก์ว่า ขณะนี้เขาไม่เรียกร้องแล้วปฏิรูปสถาบันฯ เพราะเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ เป็นการล้มล้าง เขาเปลี่ยนเป็นโจทก์คือ เขาจะมาต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หมายความว่าไง?

ก็หมายความว่าที่กำลังคิดว่าจะลงโทษเขาอยู่ ที่ชนชั้นนำและผู้มีอำนาจ และเครือข่ายฝ่ายจารีตนิยม อำนาจนิยม มองว่าเขาเป็นจำเลย เป็นพวกล้มล้างสถาบันฯ เขาก็เปลี่ยนพลิกมาเป็นโจทก์ใหม่ คือเขาต่างหากเป็นผู้ปกป้องระบอบประชาธิปไตย เขาไม่ได้ทำลายระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตรงข้าม ฝ่ายจารีตนี่แหละทำลายระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเสียเอง แล้วเปลี่ยนจากระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เปลี่ยนมาเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังนั้นเขาคือผู้ปกป้อง ไม่ใช่ผู้ทำลาย แต่ผู้ทำลายกลายเป็นผู้กล่าวหาเขาเสียเอง

อันนี้คือการพลิกตัวกลับ แล้วเขาก็เลิกเรียกร้องแล้ว ไล่ประยุทธ์ออกไป แก้ไขรัฐธรรมนูญ การไปรวมศูนย์ว่าจะต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การมองเช่นนี้สำหรับประชาชนที่ผ่านการต่อสู้มา สำหรับดิฉันมองก็คือแปลว่าเขากำลังวิเคราะห์ว่าสังคมไทยตอนนี้ระบอบประชาธิปไตยถูกยึดอำนาจไปแล้ว กลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ดิฉันได้เขียนเอาไว้ในบทความเมื่อวันสองวันมานี้ พูดถึงคำปรารภของธรรมนูญชั่วคราวฉบับที่ 1 ซึ่งมีลิ้งค์อยู่ คือพระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 บัญญัติว่า

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม เพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น และโดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยมาตราต่อไปนี้”

หมายความว่า องค์พระมหากษัตริย์คือ ร.7 ทรงได้รับการขอร้อง นี่ไม่ได้พูดว่าเป็นการปฏิวัตินะ ได้รับการขอร้องให้พระองค์มาอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครอง ก็คือเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น ถ้าดูตามนี้เราก็จะเห็นได้ว่าในขณะนั้นในหลวง ร.7 พระองค์เต็มพระทัยในการที่จะให้พระราชอำนาจนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย พระองค์ก็เคยมีพระราชดำรัสหรือมีพระราชหัตถเลขาประมาณนี้ แน่นอนว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” อำนาจเป็นของพระมหากษัตริย์ทั้งแผ่นดิน แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบ สมัยนั้นไม่ได้ใช้คำว่าระบอบประชาธิปไตย แต่ให้พระองค์ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์นั้นอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม

ง่าย ๆ ก็คือเป็น Constitutional monarchy หรือจากพระมหากษัตริย์ที่มีอำนาจเหนือแผ่นดินทั้งหมด ก็มาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แล้วอำนาจเป็นของประชาชน เพราะเราจะเห็นว่า หมวดที่ 1 อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย และทุกรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่ใช้คำว่า “เป็นของ” ก็ใช้คำว่า “มาจาก” หรือว่า “เป็นของปวงชนชาวไทย” กระทั่งรัฐธรรมนูญ 60 แปลว่าอำนาจสูงสุดนั้นเป็นของประชาชน แต่พระมหากษัตริย์นั้นใช้อำนาจ ผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร มาตรา 2 ของธรรมนูญชั่วคราวฯ มีทั้งพระมหากษัตริย์, สภาผู้แทนราษฎร, คณะกรรมการราษฎร และศาล

แล้วศาลรัฐธรรมนูญทำไง? ยกมา 3 มาตรา แล้วรำพันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยโน่น ประหนึ่งว่าเรามีระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยาวนานตั้งแต่สุโขทัย แล้วอำนาจยังเป็นของพระมหากษัตริย์ที่ใช้อำนาจแทนประชาชน แต่ว่าถ้าเราดูให้ดีเราจะเห็นว่า ยกตัวอย่าง เมื่อท่านยก 3 มาตราของรัฐธรรมนูญ 2475 ฉบับที่ 1 ดิฉันก็อยากจะถามว่าข้อตกลงระหว่าง ร.7 กับคณะราษฎรและประชาชนโดยมีการแถลงมานั้น มันเป็นเช่นไร ก็ต้องพูดให้ครบ

ก็คือ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจ แต่ใช้อำนาจไม่ใช่มีพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว โดยเฉพาะฉบับที่ 1 ผู้แทนราษฎรก็ใช้อำนาจแทนประชาชน ศาลก็ใช้อำนาจแทนประชาชน เขาไม่ได้บอกว่าศาลใช้อำนาจแทนพระมหากษัตริย์ ศาลใช้อำนาจแทนประชาชน ผู้แทนราษฎรก็ใช้อำนาจแทนประชาชน พระมหากษัตริย์ก็ใช้อำนาจแทนประชาชน คณะกรรมการราษฎรหรือที่ต่อมาก็กลายเป็นคณะรัฐมนตรีก็ใช้อำนาจแทนประชาชน เพราะประชาชนกี่สิบล้านนั้นจะไปทำงานไม่ได้ ก็ต้องมีคน 4 กลุ่ม มาใช้อำนาจแทน

ดิฉันก็คิดว่ามาถึง มาตรา 6 ซึ่งในขณะนี้มีการพูดกันว่ามาตรา 6 ที่คณะเยาวชนบอกให้ยกเลิก ถ้าเรามาเปรียบเทียบ

มาตรา 6 ปัจจุบัน “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” ปกติเราก็ไม่มีใครได้ยินที่จะพูดเรื่องนี้ แต่ในเชิงประวัติศาสตร์โดยเฉพาะทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ดิฉันอยากจะอ่านว่า

มาตรา 6 “กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย” หมายความว่าปัญหาอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้วินิจฉัยว่าจะฟ้องร้องได้หรือไม่ได้

ถ้าดิฉันจะยกเรื่องราวในอดีตที่เกิดขึ้นจริง ในหลวง ร.7 ก็เคยถูกฟ้องร้อง แต่อันนั้นอาจจะเป็นในช่วงสละพระราชสมบัติแล้วก็ได้ นี่ยกตัวอย่าง แต่โดยปกติมันไม่เกิดขึ้น อาจจะมีเรื่องของละเมิดหรือเปล่า ซึ่งเป็นคนละมาตรา แต่ที่ดิฉันเพิ่มก็คือว่า เขาไม่เหมือนกับ 60 นะ ก็คือ 2475 บอกว่าเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย คือฟ้องร้องโรงศาลไม่ได้ แต่สภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย เราก็จะเห็นว่ามันต่างกับมาตรา 6 ของปี พ.ศ. 2560 อันนี้ 2475

แล้วมาตรา 7 “การกระทำใด ๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ”

เพราะฉะนั้น ดิฉันอยากจะเรียนถามมายังศาลรัฐธรรมนูญว่า เมื่อท่านยกมา 3 มาตรา แล้วมาตรา 6, มาตรา 7 ท่านคิดว่ามันเป็นอย่างไร? ที่ดิฉันพูดอย่างนี้เพราะว่าการที่เยาวชนมีความเข้าใจว่าคำวินิจฉัยและคำพรรณนาโวหารทั้งหมดของท่าน แสดงว่าสังคมไทยเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ว่าอันที่จริงใน 2475 นั้น เราจะเห็นว่าเพียง 7 มาตรานี้ว่าด้วยเรื่องพระมหากษัตริย์ ก็จะบอกได้เลยว่ามันไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ มันเป็นระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญชัดเจน แต่ตอนนั้นไม่ได้ใช้คำว่า Democracy เพราะอาจจะเกรงคนสับสนกับ Republic เพราะมีหลายประเทศบอกว่าเป็นประชาธิปไตยแต่เขาเป็น Republic สาธารณรัฐ ยกตัวอย่างเช่นประเทศจีนเป็นต้น เพราะฉะนั้น ยังคงถวายพรเกียรติยศประมาณว่าเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

เพราะฉะนั้นในทัศนะของดิฉัน จะเป็นมาตรา 6 จะเป็นเรื่องของ 112 ดิฉันมองว่าการที่ว่าปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการยกเลิกมาตรา 6 คำว่ายกเลิกนั้นหมายความว่ายกเลิกเก่า แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มี สมมุติว่าเราบอกว่ายกเลิกรัฐธรรมนูญ 60 ก็แปลว่าต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันนี้เป็นทัศนะดิฉันนะ เวลาเขาบอกยกเลิกมาตรา 6 ก็ของรัฐธรรมนูญ 60 แต่ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีมาตรา 6 ยกเลิกมาตรา 112 ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีมาตรา 112 แต่เป็นมาตรา 112 แบบใหม่ หรือเป็นมาตรา 6 แบบใหม่ ที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

ดิฉันจึงมองว่าที่เขาเรียกร้องทั้งหมดมันไม่ได้เกินเลยไปจากระบอบประชาธิปไตย คำถามก็คือว่าทำไมเยาวชนและประชาชนจำนวนหนึ่งขณะนี้เวลาอ่านคำวินิจฉัยแล้ววิเคราะห์สังคมไทยว่าเป็นสังคมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ถ้าเช่นนั้นหมายความว่าอะไร? ก็หมายความว่าเขาจำเป็นแล้วต้องเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย คือจากในอดีตคณะราษฎร 2475 เปลี่ยนสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อยู่ไป ๆ กลายเป็นในทัศนะเยาวชน หลังจากถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็เพิ่งแน่ใจว่าขณะนี้มันเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังนั้นมันจึงเป็นหน้าที่ใหม่ก็คือต้องต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั่นแหละ

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ถ้าเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จริง เวลาจะเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตย มันต้องเป็นการปฏิวัตินะ นี่ดิฉันไม่ใช่พูดไปปลุกระดมใครนะ ดิฉันพูดตามหลักการนะ ถ้าคุณเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีปัญหาก็ทำให้การปฏิรูปก็คือมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้ดีขึ้น ให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของพระมหากษัตริย์ซึ่ง ตามหลักการต้องอยู่เหนือการเมือง ก็ทำให้ The King can do no wrong แต่ถ้าไม่อยู่เหนือการเมือง The King can do wrong

แล้วคำว่าอยู่เหนือการเมือง ไม่อยู่เหนือการเมือง ดิฉันอยากให้กลับไปดูสำเนาลายพระราชหัตถ์เลขาเรื่องเจ้านายเหนือการเมือง (สำเนา) ที่ 101 รับวันที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 แต่ว่าวันที่มีพระราชหัตถ์เลขาคือวันที่ 14 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 เป็นพระราชหัตถ์เลขาของในหลวง ร.7 ถึง พระยามโปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎร

“ในเรื่องที่เกี่ยวข้องแก่พระบรมวงศานุวงศ์จะควรดำรงอยู่ในฐานะอย่างใดในทางการเมือง กล่าวโดยหลักการพระบรมวงศานุวงศ์ย่อมดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพเหนือความที่จะพึงถูกติเตียน ไม่ควรแก่ตำแหน่งการเมืองซึ่งเป็นการงานที่นำมาทั้งในทางพระเดชและพระคุณย่อมอยู่ในวงอันจะต้องถูกติถูกชม อีกเหตุหนึ่งจะนำมาซึ่งความขมขื่นในเมื่อเวลาทำ electoral campaign อันเป็นเวลาที่ต่างฝ่ายหาโอกาส attack ซึ่งกันและกัน พระยามโนฯ เห็นว่า เพื่อความสงบเรียบร้อยสมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระวางเจ้านายกับราษฎรควรถือเสียว่าพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปย่อมดำรงอยู่เหนือการเมืองทั้งหลาย ส่วนในทางที่เจ้านายจะช่วยทะนุบำรุงประเทศบ้านเมืองก็ย่อมมีโอกาสบริบูรณ์ในทางตำแหน่งประจำและตำแหน่งอันเกี่ยวแก่วิชชาเป็นพิเศษอยู่แล้ว จึ่งหารือมาแล้ว ได้ทราบแล้ว ฉันเห็นด้วยตามความคิดของพระยามโนฯ ทุกประการ (พระปรมาภิไธย) ประชาธิปก ปร.”

ขนาดพระบรมวงศานุวงศ์ พระองค์ท่านยังบอกว่าให้อยู่เหนือการเมือง แปลว่าโดยระบอบของประชาธิปไตย หรือ Constitutional monarchy เจ้านาย พระบรมวงศานุวงศ์และพระมหากษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมืองหมด ไม่งั้นก็จะต้องเจอถูกติฉินนินทาถูกติเตียน เพราะว่าถ้าทำมันจะมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คนเห็นด้วยก็อาจจะชมเชยหรือยกยอจนกระทั่งเกิดปัญหา หรือมีการโหนเจ้า หรือคนที่ไม่เห็นด้วยก็เกิดความขัดแย้งซึ่งกันและกัน และถ้ามันเกี่ยวข้องกับเจ้านาย เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ มันเป็นเรื่องใหญ่ของบ้านเมืองแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ดังนั้นในทัศนะของดิฉัน สถานการณ์ขณะนี้เป็นไปในทางเลวร้ายลง ก็คือแทนที่จะเป็นการปฏิรูประบอบประชาธิปไตย มันจะกลายเป็นการปฏิวัติ ปฏิวัติจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่การปฏิรูป พอบอกปฏิรูปคุณบอกมีปัญหา มันจะมีปัญหาได้ยังไงถ้ามันยังอยู่ในขอบเขตของระบอบประชาธิปไตย แม้กระทั่งใช้คำว่า “ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้ ในหลวง ร.7 ท่านไม่ขัดข้องเลย ไม่ได้เขียน พระองค์ท่านก็ไม่ขัดข้อง แล้วพระองค์ท่านก็บอกว่าต้องอยู่เหนือการเมือง เจ้านายก็ต้องอยู่เหนือการเมือง ไม่งั้นจะถูกติฉินนินทา มีปัญหา

มันชัดเจนว่าเราได้เปลี่ยนระบอบจาก “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็นระบอบ “ประชาธิปไตย” แล้ว นั่นคือการอภิวัฒน์ อยู่ไป ๆ กลายเป็นว่าระบอบประชาธิปไตย มาเป็นที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มา ณ บัดนี้กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้นอยู่ในสถานะที่มีแต่ชื่อ เป็นประชาธิปไตยจอมปลอม บางคนก็บอกเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง ฟังอย่างกับเหมือนนางฟ้าจำแลงประมาณนั้น หรือบางคนก็บอกว่าเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีประชาธิปไตยเป็นมุข ซึ่งอันนี้ก็เป็นอารมณ์ขัน แต่มันเป็นตลกร้าย

ตลกร้ายเพราะว่า ถ้าคุณวิเคราะห์สังคมไทยว่าโครงสร้างชั้นบนทางการเมืองการปกครองเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แปลว่ามันได้ยกระดับจากเครือข่ายอำนาจนิยมจารีตนิยม กลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ผู้คนจำนวนหนึ่งมองเป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้น ทุนนิยมซึ่งเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐานก็ต้องเป็นทุนนิยมที่ขึ้นต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ถ้าพูดอย่างนี้ยิ่งชัดอีก ว่าทุนนิยมที่จะอยู่ได้ก็ต้องเป็นทุนนิยมที่ขึ้นต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ใช่หรือเปล่า? หรือตัวระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ต้องมีโภคทรัพย์และมีทุนซึ่งอยู่ในเศรษฐกิจทุนนิยมด้วย เพื่อค้ำจุนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้ดำรงอยู่ มันก็เป็นไปได้ทั้งนั้น

แต่ที่สำคัญก็คือว่า เมื่อปฏิรูประบอบประชาธิปไตยไม่ได้ เมื่อปฏิรูปสถาบันฯ ไม่ได้ กลายเป็นกบฏ มันก็แปลว่ากบฏต่อระบอบอะไรล่ะ? ดังนั้น “จำเลย” จึงกลายเป็น “โจทก์” ดังนั้น กลุ่มเยาวชนก็กลายว่าฟ้องร้องต่อสังคมไทย ฟ้องร้องต่อสังคมโลกว่าเขาเป็นผู้ปกป้องระบอบประชาธิปไตย ถ้าการเมืองการปกครองเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จริง การเปลี่ยนแปลงมันจะรุนแรง มันไม่ใช่การปฏิรูปอีกต่อไป

ดังนั้น ดิฉันมองว่าอนาคตข้างหน้าน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเยาวชนและประชาชนจำนวนหนึ่งกังขาต่อปัญหาที่มีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ความกังขานี้มันไปทำให้เกิดภาพของการเมืองการปกครองไทยในอีกแบบหนึ่ง และจะทำให้ความคิดที่ว่า จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงนั้น มันไม่ใช่!

แปลว่าขณะนี้เขากำลังอยู่ในภาวะที่ต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเขาต้องการเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีอำนาจเหนืออยู่ทุกวันนี้ ให้เป็นระบอบประชาธิปไตย นั่นคือการปฏิวัติสังคมค่ะ.

admin

This website uses cookies.