ขีดเส้นตาย3เดือน!รมว.เกษตรฯจี้บริษัทเร่งทำแผนสร้างอุโมงค์ผันน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง

รมว.เกษตรฯให้เวลา3เดือนจี้บริษัทเร่งรัดทำแผนงานรายสัปดาห์ สร้างอุโมงค์ส่งน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง หลังจากล่าช้าไปกว่าแผน30% สั่งกรมชลฯตั้งคณะทำงานติดตามปัญหาล่าช้า เรียกผู้บริหาร4บริษัทมายืนยันโครงการแล้วเสร็จในสัญญาหรือไม่ เผยหากสร้างเสร็จในปี 2564 จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการลุ่มน้ำปิงทั้งแก้ปัญหาขาดน้ำและบรรเทาอุทกภัย

20 ก.ค. 61 – นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำแม่แตง – แม่งัดสมบูรณ์ชล เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ หวังแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งใน ลุ่มน้ำปิงอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ โครงการขุดอุโมงค์ส่งน้ำมีความล่าช้ากว่าแผนจากที่กรมชลประทานได้จ้างผู้รับเหมาขุดอุโมงค์ 4 สัญญา ระยะทางกว่า 47 กม.วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท เริ่มปี 2558 และสิ้นสุดปี 2564 เมื่อมาตรวจทำให้ทราบว่าในระยะเวลามาถึงช่วงนี้ผู้รับเหมาจะต้องทำโครงการให้ได้ 50 – 53% แต่พบว่าขณะนี้ภาพรวมโครงการเพิ่งทำได้ 23% ซึ่งได้รับการชี้แจงถึงความล่าช้าในช่วงเริ่มต้นโครงการที่มีปัญหาศึกษาภาพแวดล้อม รวมถึงการขอใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติ

นายกฤษฎา กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้ นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ตั้งคณะทำงานติดตามปัญหาความล่าช้า และให้เรียกผู้บริหารของ 4 บริษัท มาคุยเพื่อทำแผนเร่งรัดการทำงานภายใน 3 เดือน โดยแผนนี้ต้องหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขเพื่อให้โครงการสำเร็จ ซึ่งต้องมีนายช่างของกรมชลฯ ควบคุมงาน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของบริษัทฝ่ายเดียว

“ผมห่วงกังวลทำอย่างไรให้โครงการสำเร็จได้ในปี 2564 จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ 2 จังหวัดไม่เกิดความขัดแย้งพื้นที่เกษตรแย่งน้ำเมื่อถึงหน้าแล้ง ซึ่งผมตั้งใจให้เสร็จได้เร็ว จึงได้ตั้งคณะทำงานคอยติดตามภาพรวมเพื่อให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย อย่าคิดว่ามาคาดโทษ แต่ลงมาดูความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามสัญญา โดยกรมชลฯต้องมีแผนงานรายสัปดาห์ ผมเสนอความเห็นว่าหากยังช้ามีการเตือนบริษัทและไปคุยผู้บริหารบริษัท ทำไมก่อนหน้ามาประมูลงานอ้างว่าทำได้มีเทคนิคก้าวหน้าต่างๆ ช่วง 3 เดือนนี้คุยกับผู้รับจ้างให้มายืนยันทำได้ตามสัญญา และอีก 3 เดือน ผมจะมาดูด้วยตนเองมาทำให้โครงการสำเร็จ”รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว

ด้าน นายทองเปลว กล่าวว่า ความคืบหน้าการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำเข้า – ออก หมายเลข 2 เป็นการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำระยะที่ 2 ช่วงลำน้ำแม่แตง (ประตูระบายน้ำแม่ตะมาน) – เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร ระยะทาง 25.62 กิโลเมตร ปริมาณน้ำผ่านอุโมงค์สูงสุด 28.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมอาคารประกอบ ขณะนี้สามารถขุดเจาะได้ระยะทางประมาณ 1,264 เมตร คิดเป็นความก้าวหน้า ร้อยละ 14 หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถผันน้ำส่วนเกินจากลำน้ำแม่แตง ประมาณ 113 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือน ก.ค. – พ.ย.ไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ก่อนจะส่งต่อไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ตามลำดับ

ส่วนของความคืบหน้าการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำระยะที่ 1 ช่วงเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล – เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.20 เมตร ระยะทางประมาณ 22.97 กิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลผ่านอุโมงค์สูงสุด 26 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมอาคารประกอบ ปัจจุบันสามารถขุดเจาะได้ระยะทางประมาณ 6,319 เมตร คิดเป็นความก้าวหน้า ร้อยละ 33.57 ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลในช่วงฤดูฝน ที่มีปริมาณน้ำเกินความต้องการเฉลี่ยได้ประมาณ  ปีละ 47 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยลดการสูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์ได้เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ทั้ง 2 ระยะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา ได้เฉลี่ยปีละประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ ช่วยเพิ่มเสถียรภาพการใช้น้ำในช่วงฤดูฝนของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธาราได้ประมาณ 175,000 ไร่ ส่วนในช่วงฤดูแล้ง เพิ่มจาก 17,060 ไร่ เป็น 76,129 ไร่

นอกจากนี้ ยังสามารถสนับสนุนการใช้น้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง ได้อีกประมาณ 14,550 ไร่ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จากปีละ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำปิงตอนบน ซึ่งกรมชลประทาน ได้นำระบบโทรมาตรและระบบเตือนภัยน้ำท่วมมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำและเตือนภัยจากน้ำหลากที่เกิดขึ้นล่วงหน้า เพื่อบรรเทาอุทกภัยและลดความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้อีกด้วย

snamkhao99

This website uses cookies.