‘เพื่อนธนาธร’ ออกโรงเตือน ‘ม็อบเยาวชนปลดแอก’ อย่าออกบัตรเชิญในสิ่งที่ตนเอง รับแขกไม่ไหวเลย

นายพิชิต ชัยมงคล อดีตแกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) และอดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) ซึ่งเป็นเพื่อนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้โพสต์เฟซบุ๊กโดยมีรายละเอียดดังนี้

ด้วยความเคารพพลังคนรุ่นใหม่
ผมไม่มีส่วนได้เสียกับการชุมนุม หนำซ้ำยังแอบหวังเล็กๆว่าจะชุมนุมยาวนาน สร้างสิ่งแปลกใหม่

ผมอยู่กับการชุมนุมมานานพอที่จะมองเห็น รูปแบบ เป้าหมาย และทิศทางการชุมนุมออกบ้าง แต่กระนั้นมันเป็นเรื่องดีที่คนรุ่นใหม่จะแสดงออกทางการเมือง ส่วนเรื่องท่าที คำหยาบ ความก้าวร้าวเล็กๆ มันก็เป็นไปตามวัยและประสบการณ์อย่าเอามาเป็นเรื่องที่จะมาหักล้างพลังของคนรุ่นใหม่ สิ่งที่ต้องถูกตั้งคำถามคือ เป้าหมายใช่หรือไม่ รูปแบบสอดคล้อง ข้อเรียกร้องมีเหตุผลรองรับ มีความชอบธรรมในการอธิบายถึงการชุมนุม นี่ต่างหากที่ผู้ชุมนุมต้องอธิบายตัวเอง ซึ่งก็เป็นทุกการชุมนุมไม่ว่าใครจัดการชุมนุม

ประเด็นที่น่าห่วงใหญ่มากกว่าคือ การเคลื่อนไหวมันถูกกลุ่มคนบางกลุ่ม หรือกลุ่มผู้ใหญ่บางคนคอยผสมโรง เสมือนพยายามเติมเชื้อไฟ เร่งเร้าให้เกิดภาวะ “สุกงอม” เพื่อจะสร้างให้เกิด วิกฤติทางการเมือง โดยที่คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้

ป้ายหลายป้าย ที่คนหลายคนถือ ทั้งมาจากคนหัวขาว และเด็กหัวดำ มันกำลังจะสร้างสิ่งที่หลายคนวิตก เพราะมันเกิดความสุ่มเสี่ยงชนิดที่อาจเรียกว่า เชื้อเชิญให้เกิด “ขวาพิฆาตซ้าย” แบบในอดีต และมันเป็นเสมือนคำเชิญที่มาจากการชุมนุม ไม่ใช่มาจากภายนอก และคงไม่ใช่การบิดเบือนข่าวเหมือนในอดีตเพราะปัจจุบันภาพมันมาเร็ว จากทุกมุม

ผมมองว่าหากยังไม่สามารถควบคุม ป้ายที่ไม่ควรมีได้ มันจะกลายเป็นการเคลื่อนไหวที่ “สุ่มเสี่ยง” ซึ่งอาจนำมาสู่ความเสียหายที่ยากที่ใครจะรับผิดชอบ

“ป้ายมันยกระดับความเสี่ยง มากกว่าข้อเรียกร้อง” หรือพูดง่ายๆ ล้ำหน้ากว่าการชุมนุม หรือที่จริง “การชุมนุมต้องการตามป้าย”

การยกระดับประเด็นหรือยกระดับการชุมนุมมีความสำคัญ ถ้าเริ่มต้นด้วยความเสี่ยง คุณก็ต้องยินดีรับความเสี่ยง ถ้าเคลื่อนไหวแบบสุ่มเสี่ยง ก็ต้องยอมรับผลที่ตามมา

ผมอยากให้เริ่มต้น เป็นการชุมนุมทางการเมืองเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่คนรุ่นใหม่แสดงพลัง ซึ่งผมคิดในแง่ดีมากไว้ก่อนคือ คนจัดชุมนุมคงควบคุมไม่ได้ทั้งหมด เพราะไม่มีการจัดการรองรับ กลุ่มผสมโรงจึงแอบเข้าแอบอิงการเคลื่อนไหว หรือใช้ประโยชน์จากการเคลื่อไหวของคนรุ่นใหม่เป็นเครื่องมือ หรืออาจเป็นเครื่องมือกันและกัน

ถ้าเป็นเช่นนั้น มันก็สุ่มเสี่ยง เกินจะรับผิดชอบและใครจะรับผิดชอบ ท้ายที่สุดก็จะมองว่า เราวิเคราะห์โครงสร้างสังคมไทยอย่างไร ประสบการณ์ความสูญเสียในอดีต มันสอนมาเรื่องแบบนี้ว่าท้ายสุด ถ้าเคลื่อนไหวสุ่มเสียงมันคุ้มหรือไม่ ชนะจริงหรือไม่

อย่าออกบัตรเชิญในสิ่งที่ตนเองรับแขกไม่ไหวเลยครับ เพราะบางทีเราไม่รู้จักแขกที่มาดีพอ

สนับสนุนให้เป็นการชุมนุมทางการเมือง
ด้วยความเคารพต่อคนรุ่นใหม่

admin

This website uses cookies.