‘จาตุรนต์’ เล่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ กับขบวนการ ‘ยุบพรรคไทยรักไทย’

จาตุรนต์ ฉายแสง 14 ปียุบพรรคไทยรักไทย

นายจาตุรนต์ ฉายแสง นักการเมืองชื่อ ได้รำลึกครบ “14 ปียุบพรรคไทยรักไทย” ระบุว่า 30 พฤษภาคม 2550 คือ วันที่ตุลาการรัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 ของคณะรัฐประหาร คมช. มีคำวินิจฉัยสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทย

ในขณะนั้นผมอยู่ในตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่จะต้องรวบรวมสมาชิกพรรคไทยรักไทยที่ยังเหลืออยู่และมีเป้าหมายร่วมกันที่จะต่อสู้ทางกฎหมายและการดำเนินภารกิจสำคัญในการที่จะต้องชูธงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ที่ผ่านมาผมได้ยืนยันเอาไว้ในหลายวาระว่า การยุบพรรคไทยรักไทยเป็นการทำลายทั้งพรรคการเมือง และระบบพรรคการเมือง และการยุบพรรคไทยรักไทยเป็นการหยุดยั้งและทำลายพัฒนาการทางการเมืองของประเทศ เป็นการทำลายเวทีและเครื่องมือที่สำคัญในระบบรัฐสภาที่จะต้องมีพรรคการเมืองเป็นกลไกสำคัญ

ท้ายที่สุด แม้คณะรัฐประหาร คมช. จะสามารถยุบพรรคไทยรักไทยได้สำเร็จ แต่ก็ไม่สามารถทำให้วิกฤตการเมือง วิกฤตความขัดแย้งจบลงได้ อีกทั้งยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

  1. การรับเป็นรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) ได้ลาออกตำแหน่งหัวหน้าพรรคไทยรักไทย พรรคจึงต้องหาผู้มารับตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรค เพื่อให้พรรคได้เดินหน้าในกิจการต่างๆ ต่อไป

ตอนนั้นก็มีผู้ความเห็นเสนอเข้ามาหลากหลาย ทั้งเสนอให้รับและไม่รับตำแหน่ง สุดท้ายก็เห็นว่าพรรคมีผลงานเป็นที่ยอมรับของประชาชนจำนวนมากและจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไปโดยเฉพาะเพื่อชูธงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ผมจึงตัดสินใจรับเป็นรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ในวันที่ 16 ตุลาคม 2549 แต่ด้วยขณะนั้นไม่สามารถจัดประชุมใหญ่ได้ จึงไม่ได้ตั้งให้เป็นหัวหน้าอย่างเป็นทางการ

  1. บทบาทของพรรคไทยรักไทยหลังรัฐประหาร

ขณะนั้นพรรคการเมืองไม่สามารถจัดประชุมพรรคและดำเนินกิจกรรทางการเมืองได้ พรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นพรรคที่เป็นเป้าหมายของคณะรัฐประหารยิ่งไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากไปพบปะพี่น้องประชาชนได้บ้าง ส่วนใหญ่งานของพรรคจึงเป็นการปรึกษาหารือกันและสื่อสารกับอดีต ส.ส.และประชาชน

บทบาทหลักในขณะนั้นก็คือ การเสนอความเห็นผลักดันให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว จากพรรคที่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งและนำนโยบายที่ใช้หาเสียงมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม หลังรัฐประหาร พรรคไทยรักไทยก็เพิ่มความเป็นพรรคที่เป็นแกนนำในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยมาด้วยอีกประการหนึ่ง

3.การยุบพรรคไทยรักไทย

คดียุบพรรคไทยรักไทยอาศัยกรณีสืบเนื่องจาการเลือกตั้งที่มีขึ้นก่อนการรัฐประหาร ซึ่งมีการบอยคอตการเลือกตั้งและต่อมาการเลือกตั้งครั้งนั้นถูกตัดสินให้เป็นโมฆะ

พรรคการเมืองที่ลงสมัครเลือกตั้งกับพรรคการเมืองที่บอยคอตการเลือกตั้งต่างก็ถูกดำเนินคดี พรรคที่บอยคอตการเลือกตั้งถูกตัดสินว่าไม่มีความผิดใดๆ ส่วนพรรคไทยรักไทยที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตยกลับถูกดำเนินคดีฐานล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จากการว่าจ้างพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง

การดำเนินคดียุบพรรค ไม่ได้ใช้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ทำโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งมาโดยคณะรัฐประหาร ไม่ได้เน้นวิธีการดำเนินคดี ไม่ได้เน้นการพิสูจน์ข้อมูลหลักฐาน แต่อาศัยการเชื่อ แล้วจับมาเชื่อมโยงต่อๆ กัน สุดท้ายจากเรื่องที่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ โยงไปโยงมาก็มาสามารถลงโทษพรรคการเมืองทั้งพรรคด้วยการยุบพรรค

หลายปีต่อมา การดำเนินคดีผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายจนเป็นเหตุให้พรรคถูกยุบสิ้นสุดลง ไม่มีใครถูกตัดสินลงโทษ

ในการไต่สวนคดียุบพรรคโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเกือบทั้งหมดไม่มีโอกาสให้การสู้คดี มีเพียงผู้ถูกกล่าวหาบางคนและตัวแทนพรรคไม่กี่คนเท่านั้นที่มีโอกาสให้การสู้คดี

4.การใช้กฎหมายย้อนหลังเพิกถอนสิทธิทางการเมืองคณะกรรมการบริหาร 111 คน

ในการเลือกตั้งก่อนการรัฐประหาร ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบ แต่ก่อนการตัดสินคดีพรรคไทยรักไทย คมช.ได้ออกคำสั่งกำหนดให้คณะกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบจะต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าให้คำสั่งนี้มีผลย้อนหลังไปลงโทษกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยได้

การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม แต่ก็ใช้กันมาจนทุกวันนี้คือการใช้กฎหมายลงโทษย้อนหลังสามารถกระทำได้ ในกรณีที่ไม่ใช่การลงโทษทางอาญา แม้ว่าการลงโทษนั้นจะร้ายแรงกว่าการลงโทษทางอาญาในหลายรูปแบบก็ตาม

5.การลงโทษแบบรวมหมู่กับความผิดอันเกิดจากการอยู่ร่วมองค์กรหรือการคบหาสมาคมกับผู้กระทำความผิด

การยุบพรรคไทยรักไทยและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารทั้งคณะยังเป็นกรณีแรกๆ ของการลงโทษแบบรวมหมู่ ( collective punishment ) ที่ใช้กันในศึกสงครามสมัยโบราณและการทำให้คนรับผิดจากการอยู่ร่วมในองค์กรหรือคบหาสมาคมกับผู้กระทำผิด แม้ผู้นั้นจะไม่ได้กระทำผิดหรือมีส่วนร่วมก็ตาม (guilt for association) หลักการทั้งสองข้อนี้ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมแต่ก็ยังคงใช้ต่อเนื่องเรื่อยมา

หลักการที่ไม่เป็นอารยะนี้ถูกใช้กับพรรคไทยรักไทย ทั้งๆที่ไม่มีการพิสูจน์ว่าผู้ใดทำผิดกฎหมายแม้แต่รายเดียว

  1. ตุลาการภิวัฒน์ กับบันได 4 ขั้นของ คมช.

การยุบพรรคไทยรักไทยและการเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นผลงานสำคัญของกระบวนการที่เรียกว่า“ตุลาการภิวัฒน์” และเป็นส่วนหนึ่งของแผนบันได 4 ขั้นของ คมช. ที่มีการเปิดเผยในเวลาต่อมาว่านี่คือขั้นตอนหนึ่งของแผนดังกล่าว

  1. แถลงไม่ยอมรับคำตัดสินและประกาศเจตนาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป

หลังมีคำตัดสินยุบพรรคแล้ว ผมได้ปราศรัยที่หน้าที่ทำการพรรคในวันนั้นทันที แสดงการไม่ยอมรับคำตัดสินและประกาศเจตนารมณ์ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป ในวันรุ่งขึ้นก็ได้ร่วมกับแกนนำพรรคอีกหลายคนแถลงข่าวตอกย้ำความตั้งใจนั้นอีกครั้ง ในขณะนั้นมีอดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทยกว่า 200 คน ที่มาลงชื่อแสดงเจตนารมรณ์ที่จะสู้ร่วมกันต่อไป เป็นอันปิดฉากบทบาทของพรรคไทยรักไทย ส่งไม้ต่อให้แก่พรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย ในเวลาต่อมา