‘นิพิฏฐ์’ ฟันธง ‘พรรคบิ๊กฉิ่ง’ เจาะภาคใต้ไม่ง่าย ระยะยาวไปไม่รอด

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พัทลุง 8 สมัย ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี(จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ) และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ภาคใต้ ที่เพิ่งลาออกเมื่อไม่นานมานี้ กล่าวถึงการเลือกตั้งหลังจากนี้ โดยเฉพาะหากมีการตั้งพรรคการเมืองใหม่ ที่นำโดยนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่เบื้องต้นจะเริ่มมีการสร้างฐานคะแนนในพื้นที่ภาคใต้ โดยมองว่า การแข่งขันเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ ก็เหมือนกับทุกภาค โดยสามพรรคหลักที่แข่งขันกันหนักก็คือ ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ที่ยังเป็นพรรคหลักที่แย่งชิงฐานคะแนนในภาคใต้ แต่พรรคไหนจะได้ส.ส.เท่าไหร่ก็ว่าไป แต่สิ่งที่ต้องระวัง ก็คือจะมีคู่แข่งขันพรรคใหม่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ”พรรคก้าวไกล”ที่คนรุ่นใหม่สนับสนุนเยอะๆ แต่พรรคแบบนี้ ประเมินแล้ว คงไม่ได้ส.ส.ระบบเขต คงจะได้คะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ โดยระบบเขต จะยังเป็นสามพรรคเดิมที่แย่งชิงกัน

อดีตรองหัวหน้าพรรคปชป.กล่าวว่า ส่วนพรรคใหม่ของนายฉัตรชัย พรหมเลิศ มองว่าพรรคนี้จะมีฐานการเมือง-ฐานคะแนนเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งระบบการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ เวลาแข่งขันกันตอนเลือกตั้ง ก็จะสู้กันจริง ไม่สามารถประนีประนอมกันได้ เว้นแต่ได้จะมีการแบ่งพื้นที่กัน เช่น บางเขตเลือกตั้ง พลังประชารัฐส่ง แต่พรรคของนายฉัตรชัย ไม่ส่งคนลงเลือกตั้ง แต่หากทั้งสองพรรคดังกล่าวส่ง คนลงเลือกตั้งหมดทุกเขตโดยเฉพาะในภาคใต้ ก็ไม่น่าจะสู้กันจริง ที่เป็นเป็นได้ว่าอาจจะมีการแบ่งพื้นที่กันแต่การทำมันก็ยาก เพราะระบบบัตรสองใบไม่เอื้อ ไม่เหมือนกับบัตรใบเดียวตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่เราเห็นได้กันแล้วกับกรณีของพรรคเพื่อไทยกับพรรคไทยรักษาชาติ ที่แบ่งพื้นที่กันเล่น แต่ถ้าบัตรสองใบ การแตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อย มันไม่น่าจะมีประโยชน์ ทำไม่ได้

เมื่อถามถึงว่า การตั้งพรรคการเมืองของอดีตข้าราชการระดับสูงที่เกษียณแล้วออกมาเล่นการเมือง มาเป็นคีย์แมนตั้งพรรคการเมืองใหม่ มองว่ามีโอกาสจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน นายนิพิฏฐ์ มองว่า ถ้าเป็นการตั้งพรรคโดยแสดงความเป็นเจ้าของหรือเป็นแกนนำพรรค ไม่น่าจะประสบความสำเร็จโดยเฉพาะในยุคนี้ คนที่เกษียณแล้วมาเล่นการเมือง มาตั้งพรรค ไม่น่าจะประสบความสำเร็จ ดูแล้ว อาจจะไปได้ไม่ยาว เพราะยุคปัจจุบัน การตั้งพรรคการเมืองใหม่ ควรต้องตั้งโดยคนรุ่นใหม่ๆ แต่ก็มีข้อยกเว้นบางกรณี เช่น กรณี พรรคการเมืองใหญ่บางพรรค แกนนำพรรคประเมินว่า พรรคของตัวเอง อาจจะแตกในอนาคต เลยมีการให้คนไปเตรียมตั้งพรรคการเมืองสำรองไว้ เพื่อโยกคนไป แต่ของพลังประชารัฐ เราไม่รู้เขาคิดอย่างไร ก็ไม่ขอก้าวล่วงไปวิจารณ์พรรคการเมืองอื่น

เมื่อถามถึงกรณี หากมีการเลือกตั้ง ในพื้นที่ภาคใต้ ถ้าพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคการเมืองใหม่ ที่เป็นสองพรรคซึ่งมีฐานคะแนนเดียวกันแข่งกันเอง ก็จะทำให้คะแนนตัดกันเอง แบบนี้ก็เข้าทางพรรคประชาธิปัตย์เลย ที่จะมีโอกาสชนะการเลือกตั้งในระบบเขตมากขึ้น ทางนายนิพิฎฐ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ภาคใต้ ประเมินประเด็นนี้ว่า ยังมองไม่เห็นเหตุผลที่สองพรรคนี้ จะแข่งขันกันจริง เพราะคนกุมบังเหียนสองพรรคการเมืองดังกล่าวทั้งพลังประชารัฐและพรรคที่จะตั้งใหม่ เป็นคนกลุ่มเดียวกัน การจะให้สองพรรคมาแข่งกันเอง ผมจึงมองว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ และโดยเฉพาะภาคใต้ หากเขาแข่งกันจริงๆ ดูแล้ว พรรคอดีตปลัดฉิ่ง กับพลังประชารัฐ พรรคใหม่ คงสู้พลังประชารัฐไม่ได้ ผมคิดว่า ถ้าให้คนภาคใต้ เลือกระหว่างสองพรรคนี้ ก็ต้องดูว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้าเล่นการเมือง พลเอกประยุทธ์จะอยู่พรรคการเมืองใด

“ถ้าพรรคอดีตปลัดฉิ่งเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ แล้วพลังประชารัฐไม่ได้เสนอ คะแนนเสียง ก็อาจเทไปที่พรรคอดีตปลัดฉิ่งได้ แต่ถ้าพลังประชารัฐยังเสนอพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ พรรคบิ๊กฉิ่งก็เสนอพลเอกประยุทธ์ไม่ได้แล้ว คะแนนเลือกตั้งที่พรรคใหม่ของอดีตปลัดมหาดไทย ตั้งมาก็คงไม่ได้มากในภาคใต้ “อดีตส.ส.ภาคใต้ 8 สมัย ระบุ