สภาฯล่ม ซ้ำซาก ดอกเตอร์ 3 สี กางตำราแนะวิธีแก้ปัญหา

สภาฯล่ม

ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “วิธีแก้ปัญหา สภาฯล่ม ในประเทศไทย” โยมีรายละเอียดดังนี้

ก่อนที่ผมจะอธิบายอะไรให้ท่านผู้อ่านได้ฟังนั้น ผมขออนุญาตให้ท่านที่เคารพทั้งหลายได้กรุณาอ่านข้อความสั้นๆที่ผมลอกมาจากตำราเล่มหนึ่ง มีความดังต่อไปนี้ “มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากทำให้เห็นว่าการอภิปรายในรัฐสภาของสมาชิกรัฐสภานั้นเท่าที่ผู้เขียนได้ไปนั่งฟังไม่ว่าจะเป็นในรัฐสภาของ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี แคนาดา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ได้มีโอกาสพูดคุยกับสมาชิกรัฐสภาเหล่านั้น จึงได้รับความเห็นมาว่าในประเทศเหล่านี้ไม่มีใครนิยมให้สมาชิกพูดแบบน้ำท่วมทุ่งพูดกินเวลานานเป็นชั่วโมงๆ ใครทำเช่นนั้นจะไม่ได้รับการยกย่องเลย เพราะเป็นการเสียเวลาการทำงานของรัฐสภา พวกเขาต้องการให้พูดเฉพาะสรุปในสาระที่สำคัญว่ามีความเห็นโดยสรุปเป็นเช่นไร ถ้ามีข้อมูลยืดยาวในรายละเอียดก็สามารถจะฝากให้บันทึกเอาไว้ในรายงานของรัฐสภาเพื่อประโยชน์ของผู้ที่ต้องการจะค้นคว้าในรายละเอียด ส่วนการนับองค์ประชุมก่อนการประชุมก็เป็นเรื่องที่เขาไม่ทำกัน เพราะถือว่าไม่มีความสำคัญอันใดที่จะต้องเสียเวลามานั่งฟังการอภิปรายในที่ประชุม สมาชิกสามารถฟังการอภิปรายจากห้องทำงานส่วนตัวของตนเองก็ได้ และควรใช้เวลาพบปะกับประชาชนในห้องทำงานของตนจะมีประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่าด้วย (การนับองค์ประชุมจะใช้เฉพาะเวลาที่มีการลงมติเท่านั้น เพราะเสียงเห็นชอบจะต้องมีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีทั้งหมดของสภา)

ผมขออธิบายเพิ่มเติมอีกหน่อยว่า : การตรวจสอบองค์ประชุมของสภาฯในอังกฤษ เขาจะทำกันโดยเฉพาะก่อนจะมีการลงมติกันเท่านั้นเพราะเวลานั้นสำคัญมากสำหรับส.ส.ในการต้องพบปะกับประชาชนเพื่อทราบปัญหาและจะได้หาทางแก้ไข จึงไม่จำเป็นใดๆที่ส.ส.จะต้องถูกบังคับให้นั่งในสภาเพื่อฟังการอภิปรายของเพื่อนสมาชิก เพราะการอภิปรายในรายละเอียดของร่างกฎหมายใดๆที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯนั้น ล้วนได้มีการกระทำกันมาแล้วในที่ประชุมของพรรคฯ เมื่อเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมพรรคมีความเห็นเช่นใดส.ส.ของพรรคก็จะไปยกมือตามมติเสียงส่วนใหญ่ (แม้บางคนอาจจะไม่เห็นด้วยแล้วของดออกเสียง หรือไม่ยอมเข้าร่วมการประชุมในการลงมติก็กระทำได้แต่จะมีน้อยมาก)

แต่เมื่อถึงวาระที่ร่างกฎหมายนั้นๆเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พรรคที่เป็นเจ้าของร่างกฎหมายนั้นก็ต้องเตรียมส.ส.ของตน(บางทีอาจจะเป็นรัฐมนตรี)ขึ้นพูดชี้แจงต่อท่านประธานสภาฯ แต่เจตนารมณ์ที่แท้จริง เพียงเพื่อต้องการให้ประชาชนทั้งประเทศได้เข้าใจเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายนั้น เพราะจะมีการถ่ายทอดสดทั้งทางวิทยุและทีวีตลอดเวลา ของการประชุมของสภาฯ ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากพรรคต้องทำงานหนักในการย่อความในสิ่งที่ตนเองต้องการจะพูดจึงต้องเป็นการพูดแบบสรุปๆ ส่วนรายละเอียดซึ่งอาจจะมีมากเขาจะมอบไว้ให้แก่ประธานสภาฯ สำหรับพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนั้นๆก็จะมีการเตรียมส.ส.ของพรรคไว้ 2-3 คน เช่นเดียวกัน เพื่อแสดงเหตุผลให้ประชาชนฟังว่าทำไมพรรคของตนจึงไม่เห็นด้วย แต่จะเป็นการอภิปรายแบบประหยัดเวลาเช่นเดียวกัน การประชุมสภาผู้แทนของอังกฤษในแต่ละสมัยจึงสามารถผ่านการพิจารณากฎหมายได้จำนวนมากช่วยให้การแก้ไขปัญหาของชาติได้รับการปฏิบัติที่รวดเร็ว ไม่ใช่ถูกหมักหมมเพราะการเล่นการเมืองใส่กันเพื่อให้สภาล่ม ถ้ากฎหมายไม่ผ่านปัญหาของประชาชนก็จะไม่ได้รับการแก้ไขต้องถูกหมักหมมไว้ต่อไป

ผมจึงเห็นว่าประเทศไทยควรจะมีการแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาฯ โดยห้ามผู้ใดเสนอการนับองค์ประชุม ถ้ายังไม่ถึงเวลาที่ประธานสภาฯจะประกาศให้มีการลงมติ การนับองค์ประชุมเป็นหน้าที่ของประธานสภาฯโดยตรงอยู่แล้ว ส.ส. ของอังกฤษจึงไม่เคยมีปรากฏว่ามีผู้ใดเลือกเสนอให้นับองค์ประชุม

หมายเหตุ : ข้อความที่ผมคัดลอกมาให้ท่านทั้งหลายได้อ่านในย่อหน้าแรกที่อยู่ในเครื่องหมายคำพูดนั้น เป็นการลอกมาจากตำราที่ชื่อว่า “มารยาททางการเมือง กับกฎหมายรัฐธรรมนูญ , เขียนโดย ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี , จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊ก หน้า 211-212. ที่จริงผมได้มอบหนังสือเล่มนี้ให้กับท่านประธานชวน หลังจากพิมพ์เสร็จใหม่ๆ หวังว่าท่านจะได้แนะนำให้ส.ส. ที่สนใจได้ไปอ่าน อาจจะเป็นประโยชน์กับประเทศบ้าง ไม่มากก็น้อย

ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านที่อ่านไว้ในโอกาสนี้ด้วย