‘มายด์’ สรุปบทเรียนปชต.ไทยคล้ายพม่า กองทัพวางรากฐานอย่างเป็นระบบ

มายด์

นางสาวภัสราวลี (มายด์) ธนกิจวิบูลย์ผล สมาชิกคณะราษฎร กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “ยูเครน/พม่า/เกาหลีใต้/ไทย : คนรุ่นใหม่กับบทเรียนประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยเปรียบเทียบ” ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ เมื่อ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา

โดย มายด์ ภัสราวลี กล่าวว่า การถอดบทเรียนประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย ทำให้ตนเห็นคุณค่าการต่อสู้ เมื่อเราพูดถึงประชาธิปไตยต้องเอาประชาชนเป็นหลัก หากเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อประชาธิปไตย เราจะต้องศึกษาการเมืองและการช่วงชิงอำนาจในประวัติศาสตร์ด้วย เพื่อเรียนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยกลับคืนมา ประชาชนจะมีอำนาจในสัดส่วนแบบไหน ประชาชนจะต้องกำหนดทิศทางตัวเองอย่างไร ดูว่าโครงสร้างอำนาจแบบไหนที่เหมาะกับเรา

“การช่วงชิงอำนาจแต่ละฝ่ายในอดีต ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหาร รัฐบาลประชาชน ต้องเก็บมาเป็นบทเรียน และนำมาปรับใช้เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยจริงๆ ให้ได้ ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ตนเรียนรู้ว่าเผด็จการก่อนหน้านี้มีรูปแบบเป็นแบบแผน พยายามการวางรากฐานอำนาจอย่างเป็นระบบ ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ต่อต้านเผด็จการจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้” นางสาวภัสราวลี กล่าว

ตนคิดว่าเราไม่ต่างจากบทเรียนในประเทศพม่าที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เสียที คล้ายกับประเทศไทยมาก เพราะฉะนั้นเมื่อเราพูดถึงพม่าเราจะเห็นรูปแบบของเผด็จการทหารที่ชัดเจน กองทัพพม่าพยายามอ้างประชาธิปไตยบังหน้า แต่สุดท้ายเมื่อประชาชนเลือกพรรคเอ็นแอลดี ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย กองทัพพม่าก็ปฏิเสธผลการเลือกตั้งและกลับเข้ามายึดอำนาจรอบใหม่ จึงชัดเจนว่าเผด็จการไม่ได้ต้องการการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่กองทัพจะควบรวม แบ่งอำนาจให้กับประชาชนตามสัดส่วนที่เขาต้องการ ดังเช่นกองทัพพม่าแพ้เลือกตั้งสองครั้ง และก็ล้มเลือกตั้งมาทั้งสองครั้งแล้ว

นางสาวภัสราวลี ยังกล่าวว่า เราจะเห็นแบบแผนอย่างแรกเลยและก็เหมือนประเทศไทย เขาเข้าสู่อำนาจด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทหารส่งคนของตัวเองเข้าไปนั่งตำแหน่ง ส.ว. และ ส.ส. เมื่อเขาจัดตั้งรัฐบาลได้ เขาก็เข้ามาซ่อนอยู่ในรูปแบบของการปกครองแบบประชาธิปไตย คล้ายกันกับบทบาทกองทัพของไทย แต่เมื่อพี่น้องประชาชนในพม่าถูกกดทับทางอำนาจ ขบวนการประชาธิปไตยก็จึงเกิดขึ้นโดยปริยาย และเกิดการสู้กลับของประชาชน

“ย้อนมาที่รัฐบาลไทย มีกลไกรัฐสภา มีการเปิดโอกาสให้มีการชุมนุมของประชาชน แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้มีบรรยากาศของประชาธิปไตยจริงๆ เพราะมีการดำเนินคดีต่อประชาชนที่ออกมาต่อต้านอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่คนที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นอื่นๆ ที่ไม่ต่อต้านรัฐบาลกลับไม่ถูกดำเนินคดีเลย เราเห็นการวางโครงสร้างอำนาจของเผด็จการทหารเช่นเดียวกับพม่า ซึ่งเขาไม่ได้มีแค่ตัวคนเดียว เขามีองคาพยพของเขา แม้ตัวเขาจะไม่มีประสิทธิภาพ แต่มีองคาพยพที่พยายามวางอำนาจเป็นฐานของกลุ่มเขาอยู่เพื่อครองอำนาจให้ยาวนาน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นบทเรียนสำคัญให้ประชาชนได้ถอดบทเรียนจากอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อจะสร้างขบวนการประชาธิปไตยของประชาชนต่อไป” นางสาวภัสราวลี กล่าว