
พรรคก้าวไกลอาจกำลังร้องเพลง “รางวัลแด่คนช่างฝัน”ของ จรัล มโนเพ็ชร ว่า
“อย่ากลับคืนคำเมื่อเธอย้ำสัญญาอย่าเปลี่ยนวาจา เมื่อเวลาแปรเปลี่ยนไป………”
แต่ในยามนี้ จะร้องได้ไพเราะหรือร้องเสียงดังเท่าไร ก็ไม่มีใครฟัง เพราะวันนี้เลิกถือสัจจะวาจากันแล้ว
มีคนให้คำนิยามว่า การเมืองไทย
คือ”ศิลปะแห่งความเป็นไปได้” ขอแย้งว่า คำว่า”ศิลปะ”นั้นมีความประณีตงดงามในตัวของมันเอง การเมืองไทยจึงไม่ควรค่าต่อศิลปะ
ขอนิยามใหม่ว่าการเมืองไทยคือ
“มายาคติแห่งความเป็นไปได้ “ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยต้นทุนมหาศาลเพียงใดก็ตาม
เพราะสิ่งที่เรียกว่า”ตระบัดสัตย์” “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ทรยศ” “หักหลัง”
“สับปลับ” “ตลบแตลง”
ถูกนำมาใช้เต็มพิกัดในยามนี้ มันไปไกลถึงขั้นมีคนตั้งละครคณะใหม่ชื่อ
“เพื่อไทยการละคร”ขึ้นแล้ว
การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลที่ยืดเยื้อมาเกือบสามเดือนทำท่าจะลงตัว เนื่องจากมีท่าทีว่า พรรคสองลุงเข้ามาร่วมแล้ว นั่นหมายถึงความคาดหวังว่าจะมีเสียง ส.ว.มาเติมอีกราว 60 เสียงจากที่มีอยู่ 315 เสียง ก็จะเพียงพอได้เสียงเกินครึ่งของรัฐสภา
ก่อนหน้านี้ล่ะ
“พรรคเพื่อไทยเรายึดถือเจตนารมณ์และหลักการประชาธิปไตย ยังคงสนับสนุนพรรคก้าวไกลอย่างสุดกำลัง และเราจะส่งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรีจนสุดมือ”(เศรษฐา ทวีสิน 15 กค.66)
ความพยายามตรงไหนที่บอกว่า “สุดกำลัง”
เศรษฐา คนเดียวกัน รวมทั้ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หน.พท.และ แพทองธาร ชินวัตร ประกาศ”ไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคสองลุง” ชลน่าน ถึงกับเดิมพันด้วยตำแหน่งหัวหน้าพรรค
จากการตั้งข้อรังเกียจ มาวันนี้กลายเป็นทอดไมตรี”ชอล์คมิ้นต์”
ผู้ทรงอิทธิพลแห่งพรรคภูมิใจไทยที่ประกาศแข็งขันว่า”มันจบแล้วครับนาย” ก็เปลี่ยนมาเป็นการผูกมิตรจับมือกันใหม่
ที่เคยบอกว่า”ไล่หนู ตีงูเห่า” ก็กลายเป็น”กวักมือเรียกหนู ต้อนรับงูเห่า”
คำว่า “มีลุง ไม่มีเรา” จะถูกลืมเลือนไป เพราะต่อจากนี้ “เรามีลุงแล้ว”แม้จะเป็นลุงซ่อนรูปก็ตาม
นักการเมืองจะมีวิธีการทำให้พฤติกรรมตระบัดสัตย์กลายเป็นสิ่งที่ดูดีขึ้นมา
เช่นแทนที่จะพูดว่า”รัฐบาลข้ามขั้ว”จะกลายเป็น”รัฐบาลสลายความขัดแย้ง” เมื่อต้องผิดคำพูด ก็จะใช้คำว่า
“เราต้องยอมรับความเป็นจริง”แล้วสิ่งที่เคยพูดไว้ก็จะลืมๆกันไป เพราะการได้เป็นรัฐบาลนั้นมีเดิมพันมหาศาล
นอกจากผูกพันกับงบประมาณเป็นล้านล้านบาทแล้ว ยังต้องเอื้อต่อการเดินทางกลับไทยของคนแดนไกลที่จะต้องบริหารจัดการให้มีอิทธิฤทธิ์เหนือกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดทั้งมวล
นับแต่นี้ต่อไป
สิ่งที่พูดจะไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำ สิ่งที่ทำจะไม่ใช่สิ่งที่พูด คำพูดใดๆที่พูดออกไปแล้ว จะเปลี่ยนผันไปอย่างไรก็ได้ด้วยการหาคำตะแบงใหม่
วิถีปฏิบัติใหม่หรือที่เรียกว่า New Normal ของการเมืองไทยนับแต่นี้ไป ไม่ใช่อะไรอื่น หากคือ “ความคุ้นชินที่จะตระบัดสัตย์” หรือ “มายาคติแห่งความเป็นไปได้” นั้นเอง
เขียนโดย ประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา(สว.)