เปิด 3 จุดตาย ‘เศรษฐา’ ต้องเคลียร์ให้ชัด ไม่งั้นอดได้เสียง สว.โหวตนายกฯ

20 สิงหาคม นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 22 ส.ค.ว่า แนวทางการโหวตนายกรัฐมนตรีมองว่า สมาชิกรัฐสภาทั้งสส.และสว.ต่างก็คงมีแนวทางเหมือนกันคือสนับสนุนบุคคลที่มาจากพรรคการเมืองที่รวมเสียงส.ส.ได้มากที่สุดแล้วเสนอชื่อมาให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา เพื่อจะได้รัฐบาลที่มีเสียงเสถียรภาพ อันเป็นหลักทั่วไป เพียงแต่ว่าเมื่อมีประเด็นเรื่องตัวบุคคลที่พรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภาฯเสนอชื่อมาให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณา ก็จำเป็นต้องลงรายละเอียดในสองส่วนสำคัญคือ หนึ่ง ตัวบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าจะต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องหลักพื้นฐาน คือหากไม่ใช่ตัวบุคคลที่ถูกกล่าวหาหรือมีเรื่องต่อศาลเช่นกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์จากพรรคก้าวไกล ถ้าไม่มีกรณีดังกล่าว ก็ไม่มีปัญหาอะไร

นายดิเรกฤทธิ์กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่สอง หากชื่อที่เสนอมา ไม่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม จากนั้นต้องมาดูเรื่อง คุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต เพราะการเป็นผู้นำประเทศ ต้องเป็นผู้นนำพาองคาพยพของประเทศ เรื่องจริยธรรม ความซื่อสัตย์จึงเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อมีประเด็นที่มีประชาชนร้องเรียน ประชาชนนำข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณะ เช่นที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ชี้ประเด็นไว้หลายเรื่อง หรือเรื่องสมัยที่เป็นผู้บริหารบริษัทมหาชนแล้วมีกรณี ทำสะพานในที่สาธารณะแล้วมีการเรียกเก็บเงินค่าผ่านทาง เรื่องเหล่านี้ ต้องมีความชัดเจน ต้องอธิบายได้ว่าตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือไม่ได้เป็นบุคคลที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน หรือไม่มีความซื่อสัตย์ตามประเด็นที่ถูกกล่าวหา เขาต้องชี้แจงให้ได้

นายดิเรกฤทธิ์กล่าวต่อไปว่านอกจากนี้เรื่อง นโยบายสำคัญต่างๆ ที่บอกว่าจะเข้ามาดำเนินการหากเป็นรัฐบาลก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องทำความชัดเจนให้กับคนที่ลงคะแนนโหวตให้

“อย่างกรณีคุณเศรษฐา ที่มีการบอกว่า วันแรกในการประชุมครม.จะให้มีการทำประชามติ เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะทำให้รัฐธรรมนูญปัจจุบันหายไป เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่คนทั้งประเทศ และสว.-สส.ต้องมาขบคิดเหมือนกัน เพราะเป็นเรื่องสำคัญ คำว่าให้มีสสร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เขาต้องตอบคำถามให้ได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ดีอย่างไร ถึงจะมายกเลิก แล้วเรื่องที่จะมาแก้ไข แล้วเป็นประโยชน์กับประชาชนมีอะไรบ้าง แล้วประเด็นดังกล่าว มันสำคัญมากจนไม่สามารถใช้วิธีการแก้เป็นรายมาตราอย่างไร จนต้องไปยกร่างมาใหม่ทั้งฉบับ รวมถึงในเมื่อตอนนี้ก็มีสภาฯ ที่ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง แล้วทำไม ไม่ใช้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านสมาชิกรัฐสภา ทำไมต้องไปแก้ไข แล้วร่างใหม่ ผ่านการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่กระบวนการต่าง ๆต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งการที่คนซึ่งจะมาเป็นนายกฯ แล้วมาประกาศแบบนี้โดยอาจจะยังไม่มีวิธีคิดที่ชัดเจนออกมาก่อน ก็เป็นข้อสงสัย ข้อกังวล ที่อาจจะไม่ได้รับความเห็นชอบ หากไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน”นายดิเรกฤทธิ์ระบุ

เมื่อถามถึงกรณี วิปสามฝ่าย มีความเห็นว่าบุคคลที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ จะมีผลอย่างไรหรือไม่ หากมีการซักถามเรื่องนายเศรษฐาในประเด็นต่างๆ แล้วตัวนายเศรษฐาไม่อยู่ในห้องประชุมรัฐสภา การชี้แจงของส.ส.เพื่อไทยที่จะชี้แจงแทน นายเศรษฐา จะเพียงพอหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์กล่าวว่า วิปสามฝ่าย ก็ต้องมีความเห็นดังกล่าว เพราะไม่สามารถไปมีความเห็นที่ขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภาไม่ได้ ซึ่งนายเศรษฐา ไม่ได้เป็นส.ส. ทำให้ไม่สามารถเข้ามาได้ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาญัตติต่างๆ ของรัฐสภา สามารถให้ผู้เกี่ยวข้องที่ไม่ได้เป็นสส.และสว.สามารถเข้าชี้แจงได้ โดยผู้เกี่ยวข้องสามารถทำหนังสือถึงประธานรัฐสภา หรือพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องก็บอกต่อประธานรัฐสภา ถึงเหตุผลต่างๆ เพื่อขอให้ประธานรัฐสภา ขอมติต่อที่ประชุมได้ว่า ในเมื่อสมาชิกรัฐสภาจะโหวตเลือกเขาเป็นนายกฯ แต่เขาไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ก็อาจไม่ได้รับความเป็นธรรม และสมาชิกจะไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนประกอบการลงมติ เมื่อวันนั้นคาดว่าเขาจะมารอแสตนด์บายอยู่นอกห้องประชุมอยู่แล้ว ก็ควรอนุญาตให้เขาได้เข้ามาชี้แจง เพื่อให้ความเป็นธรรมกับเขา เพราะแม้เขาจะมีการชี้แจงผ่านสาธารณะไปบ้างแล้ว แต่อาจจะมีสมาชิกซักถามเพิ่มเติม ก็เปิดโอกาสให้เขาได้ชี้แจงต่อที่ประชุม ถ้าเสนอเหตุผลแบบนี้ ผมเชื่อว่า สมาชิกรัฐสภา น่าจะเห็นความจำเป็นในการเชิญเขาให้เข้ามาในที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้ โดยให้ไปนั่งอยู่ที่บริเวณพื้นที่ผู้ชี้แจง ในห้องประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภาสามารถนั่งได้ เหมือนตอนพิจารณากฎหมายต่างๆ ที่คนไม่ได้เป็นส.ส.-สว.ก็นั่งตรงจุดดังกล่าว

“การที่เขามา หรือไม่มา ถามว่าใครเสียประโยชน์ ตอบก็คือคนที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ เพราะจะไม่มีโอกาส ได้ชี้แจง เมื่อเขาเสียประโยชน์ ในทางที่เป็นไปได้ เขาน่าจะหารือผู้เกี่ยวข้อง ว่าวันอังคารนี้จะไปรอแสตนด์บายแล้วจากนั้น ถ้าได้รับอนุญาต ก็ขอได้เข้าไปแสดงวิสัยทัศน์ และเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาได้ซักถาม แต่หากเขาคิดจะไม่อยากมา เขาก็ต้องมั่นใจว่าตัวแทนของเขา พรรคการเมืองที่เสนอชื่อ ต้องมีข้อมูลที่จะอธิบายแทนเขาได้ และมีน้ำหนักมากพอที่สมาชิกรัฐสภาจะเชื่อได้”นายดิเรกฤทธิ์กล่าว

ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม
ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม