จับตา ‘น่าน’ เสี่ยงน้ำท่วมดินโคลนถล่มหลังฝนตกหนักสะสม 155 มม.

เมื่อวันที่ 3 กันยายน นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในภาพรวมของประเทศขณะนี้ว่า สทนช. คาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่ลำน้ำสายสำคัญๆ ได้แก่ ลำน้ำก่ำ ลำน้ำสงคราม ลำน้ำอูน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแควใหญ่ แม่น้ำป่าสัก อ.หล่มสัก อ.หนองไผ่ อ.เมืองเพชรบูรณ์ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ และแม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณ ตลาดเก่า อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ์ อ.เมืองปราจีนบุรี อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ขอให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวติดตามประกาศของกรมชลประทานเรื่องสถานการณ์น้ำแม่น้ำปราจีนบุรีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแม่น้ำน่าน อ.แม่จริม อ.บ่อเกลือ อ.เวียงสา อ.ท่าวังผา อ.เมืองน่าน จ.น่าน ที่มีความเสี่ยงจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จากฝนตกหนักสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ตรวจวัดปริมาณน้ำฝนสูงถึง 155.5 มิลลิเมตร

ส่วนแม่น้ำโขงขณะนี้ยังคงมีแนวโน้มน้ำสูงขึ้น มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่งที่ จ.หนองคาย จ.นครพนม และจ.มุกดาหาร และต้องเฝ้าระวังบริเวณ จ.บึงกาฬ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นอ่างฯขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ ปัจจุบันคงเหลือ 5 แห่ง ได้แก่ 1. เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปริมาณน้ำ 560 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 108% ปริมาณน้ำไหลเข้า 3.54 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 0.51 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 7.03 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร 2.เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 756 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 106% น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 1.02 ม. ลดลง 2 ซม.ปริมาณน้ำไหลเข้า 14.94 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 2.81 ล้าน ลบ.ม.มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 15.74 ล้าน ลบ.ม.

3.เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำ 8,367 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 94% ปริมาณน้ำไหลเข้า 57.04 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 7.52 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำไหลออก 52.33 ล้าน ลบ.ม. โดยในวันพรุ่งนี้ (4 ก.ย.61) จะเริ่มปรับแผนการระบายน้ำเป็นวันละ 58 ล้าน ลบ.ม. ไปจนถึงวันที่ 10 ก.ย.61 ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่ระบายยังไม่เกินความจุของลำน้ำแควน้อย แต่อาจมีพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบางแห่งได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เอ่อสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 50 ซม. ซึ่งเน้นย้ำหน่วยเกี่ยวข้องแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำด้วย

4. เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำ 16,144 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 91% ปริมาณน้ำไหลเข้า 50.66 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 3.5 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 25.97 ล้าน ลบ.ม. และจะเริ่มปรับแผนการระบายน้ำผ่านเขื่อนท่าทุ่งนาเป็นวันละ 28 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่ 7-13 ก.ย. 61 โดยปริมาณน้ำที่ระบายยังไม่เกินความจุของลำน้ำแคว แต่อาจมีพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบางแห่งได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เอ่อสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 60 ซม. ที่ได้มีการแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควใหญ่ให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำล่วงหน้าแล้ว 5. เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายกปริมาณน้ำ 194 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 87% ปริมาณน้ำไหลเข้า 6.87 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 0.46 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออกวันละ 6.16 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 0.8 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 0.95 ม. เพิ่มขึ้น 10 ซม.