เลขาฯสปส.เผยเล็งเก็บเงินประกันสังคม1พันเพิ่มสิทธิประโยชน์-ตัวแทนฝ่ายลูกจ้างหนุน

กรณีนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุว่ากระทรวงแรงงานจะเก็บเงินเงินสมทบเพิ่มจากเดือนละ 750 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท ซึ่งวิจารณ์ว่าการเก็บเงินสมทบเพิ่มเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ประกันตนกว่า 15 ล้านคน เพราะเงินกองทุนประกันสังคมมีสะสมมากถึง 1.8 ล้านล้านบาท จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะเก็บเงินเพิ่ม อีกทั้งรัฐบาลนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จนเสียหาย จึงเรียกร้องให้มีการสอบสวนหาผู้รับผิดชอบในอดีตมาลงโทษ และเรียกค่าเสียหายชดใช้คืนกองทุนฯ ด้วย รวมทั้งเสนอให้ออกกฎหมายห้ามนำเงินกองทุนประกันสังคมมาใช้แบบผิดวัตถุประสงค์ หรือมาใช้หาเสียงเรียกคะแนนนิยมทางการเมือง

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชี้แจงว่า ผู้ประกันตนที่มีค่าจ้างต่ำกว่า 15,000 บาท ยังคงจ่ายเงินสมทบเท่าเดิม ไม่มีผลกระทบใดๆ ส่วนผู้ประกันตนที่มีค่าจ้างสูงกว่า 15,000 บาท ตามฐานข้อมูลประกันสังคม ผู้ประกันตนกลุ่มนี้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของผู้ประกันตน ที่มีนายจ้างในระบบประกันสังคม ซึ่งคิดเป็นจำนวน 3,603,866 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2561) ซึ่งผู้ประกันตนจำนวนประมาณนี้เท่านั้นที่ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นและการจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้สำนักงานประกันสังคม มีหน้าที่ดูแลผู้ประกันตนให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเพียงพอ อีกประการหนึ่งในเรื่องนี้ เป็นข้อเสนอของผู้แทนฝ่ายลูกจ้างที่เห็นประโยชน์อันจะเกิดแก่ผู้ประกันตน อย่างไรก็ตามในการดำเนินการสำนักงานฯ ก็ต้องดูแลไม่ให้กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ขณะนี้จึงยังไม่ได้ดำเนินการใดเพิ่มเติมเนื่องจากคณะกรรมการประกันสังคม ได้พิจารณาให้สำนักงานฯ ดำเนินการสร้างการรับรู้ และรับฟังความคิดเห็น ของ ผู้ประกันตน นายจ้าง และสาธารณชน

นายสุรเดช กล่าวว่า การที่เก็บเงินสมทบเพิ่มไม่ได้หมายความว่ากองทุนประกันสังคมขาดทุนหรือเงินกองทุนลดน้อยลง แต่สำนักงานพิจารณาถึงการเสียโอกาสในการออมและผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนโดยเฉพาะในส่วนเงินทดแทนและเงินบำนาญ

“ส่วนเรื่องความเสียหายในการลงทุนที่ผ่านมาในอดีต สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการทางวินัย ดำเนินการในคดีอาญา ซึ่งการพิจารณาอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม และดำเนินการทางแพ่งเป็นคดีความรับผิดทางละเมิด เพื่อเรียกค่าเสียหายแล้ว”เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าว

ทั้งนี้ การใช้จ่ายเงินกองทุนประกันสังคม ต้องดำเนินการภายใต้กรอบพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 24 และระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม ว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน พ.ศ.2555 ซึ่งกำหนดประเภทการใช้จ่ายเงินได้อย่างชัดเจน เช่น การจ่ายเป็นค่าบริการทางการแพทย์ การจ่ายประโยชน์ทดแทน และการจ่ายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของสำนักงาน