‘กระทรวงดิจิทัล’ แจงครม. ‘เน็ตประชารัฐ’ งานตามเป้าแถมงบเหลือ1,638ล้านบาท

เมื่อวันที่ 25 กันยายน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ชี้แจงความคืบหน้าโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน โทรคมนาคม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐ วงเงินรวมทั้งหมดประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยแยกเป็นสองส่วน 1.การทำอินเตอร์เน็ตประชารัฐทุกพื้นที่ทั่วไทย วงเงินงบประมาณ 13,000 กว่าล้านบาท โดยเน้นพื้นที่ห่างไกล และการลงทุนทางพาณิชย์เข้าไม่ถึง โดยแบ่งออกเป็น 2 โซนย่อย คือโซนแรก ซึ่งกระทรวงดีอี เป็นผู้รับผิดชอบจำนวน 24,700 หมู่บ้าน โดยให้บริษัท ทีโอที จำกัด มหาชน เป็นผู้ดำเนินการ โดยขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จครบทุกพืนที่แล้ว เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 60 และอีกโซน ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้รับผิดชอบ 15,732 หมู่บ้าน โดยใช้งบกองทุนวิจัยของ กสทช. และอีกส่วนคือพื้นที่ทุรกันดาร การเดินทางเข้าไม่ถึง โดยกสทช.เป็นผู้รับผิดชอบจำนวน 3,920 หมู่บ้าน

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กระทรวงดีอียังได้ติดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเครือข่าย (Network Operation Center) อยู่ที่กระทรวงดีอี สามารถตรวจสอบการใช้งานได้ทั้ง 24,700 กว่าหมู่บ้านว่ามีปัญหาขัดข้องอย่างไร ซึ่งสามารถติดตามได้ทุกหมู่บ้าน ส่วนไหนที่ระบบขัดข้องก็จะสามารถแก้ไขได้ทันทีภายใน 15 นาที แต่ถ้าเกิดความชำรุดเสียหาย จำเป็นที่จะต้องเดินทางเข้าไปแก้ปัญหา ก็จะต้องประเมินตามระยะทางหมู่บ้าน โดยจะแก้ไขให้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันประชาชนสามารถโทรมาแจ้งถึงข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นได้ที่เบอร์ 1111 เพื่อให้เป็นไปตามข้อสั่งการของนายกฯ อย่างไรก็ตามทางกระทรวงดีอียังลงไปสร้างเข้าใจดิจิทัลขั้นพื้นฐาน ให้ได้ทันตามเป้าหมาย 1 ล้านคน ภายในสิ้นปีงบประมาณนี้ จากการประสานงานข้อมูลกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีผู้มาลงทะเบียนใช้งานอินเน็ตประชารัฐประมาณ 4 ล้านคน

“ทั้งนี้เมื่อดำเนินการจริงพบว่าใช้เงินไปเพียง 11,361 ล้านบาท จึงมีงบประมาณเหลืออยู่ 1,638.66 ล้านบาท โดยจะนำไปใช้ในการพัฒนาปรับปรุงโครงข่ายสัญญาณ รวมถึงให้ความรู้กับหมู่บ้านชุมชน ในการขับเคลื่อนให้เป็นชุมชนดิจิทัล ขณะเดียวกันทางกระทรวงดีอี ได้ขอขยายระยะเวลาดำเนินการจากเดิมต้องเสร็จสิ้นในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เป็นเดือน ก.ย. นี้ ซึ่งครม. เห็นชอบในหลักการ แต่ให้ทำข้อตกลงกับสำนักงบประมาณ และให้ดำเนินการเฉพาะเท่าที่จำเป็นจริงๆ และส่วนที่ 2. คือการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง ดิจิทัลฮับของภูมิภาคอาเซียน อีก 7,000 ล้านบาท”