รำลึกถึง อดีตแม่ทัพผู้ชนะศึกการระบาดของไวรัสในประเทศไทย

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลังรังสิต โพสต์เฟซบุ๊กโดยมีรายละเอียดดังนี้

รำลึกถึง หมอประเสริฐ ทองเจริญ อดีตแม่ทัพผู้ชนะศึกการระบาดของไวรัสในประเทศไทยและทีมงาน

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้รำลึกถึงบุคคลท่านหนึ่งคือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ซึ่งถือเป็นตำนานนักไวรัสวิทยาของไทยที่มีชื่อเสียงไปในระดับโลก

ครอบครัวผมได้เคยได้รับบริการในการรักษาจากคุณหมอประเสริฐ ทองเจริญ เมื่อครั้งมีคลิกนิกตั้งอยู่ที่การเคหะแห่งชาติ คลองจั่น ผมมีความทรงจำได้ว่าคุณหมอประเสริฐดื่มเบียร์ทุกวันๆละ 2 ขวด ตอนเมื่อผมยังเป็นเด็กนั้นคุณหมอเป็นหมอที่ใจดีมาก เมื่อสงสัยว่าผมจะเป็นโรคตับอักเสบ และด้วยความเป็นห่วงว่าผมจะเป็นภาระกับครอบครัวที่บ้าน ถึงขนาดเอ่ยปากว่าจะให้ผมไปนอนที่บ้านพักคุณหมอเสียด้วยซ้ำ และสิ่งที่ผมจำได้ก็คือท่านจะมีลูกเล่นให้เด็กๆที่มารักษาด้วยความคุ้นเคย แจกวิตามินซีให้อมเล่นบ้าง มีของเล่นบ้าง ฯลฯ หลังจากนั้นที่ไม่ได้มีโอกาสพบท่านนานมากแล้ว มาทราบอีกทีว่าท่านได้ไปทำงานสำคัญในด้านการระบาดไวรัสทั้งในประเทศและในระดับโลกแล้ว

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ท่านเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ที่ได้ช่วยเหลืองานด้านวิชาการของกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขที่สำคัญยิ่ง มีทั้งความรอบรู้อย่างลึกซึ้งในทางวิชาการ มีความกล้าหาญในการตัดสินใจ อีกทั้งยังเป็นนักประสานสิบทิศที่เปิดทางให้ผู้ที่เห็นต่างเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อเอาชนะปัญหาและสร้างคนรุ่นใหม่ให้สืบสานเจตนารมณ์ต่อไป

เป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่ท่านผู้นี้ได้ล่วงลับไปแล้ว และเรื่องราวของท่านได้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือชื่อ “อัตชีวประวัติศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ฝากรอยไว้ในทรายสมัย” ซึ่งจัดทำโดยกองนวัตกรรมและวิจัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเมื่อ พ.ศ. 2562 ซึ่งจะนำความบางตอนจากหนังสือดังกล่าวมาเผยแพร่ เผื่อที่จะเป็นประโยชน์ในสถานการณ์ปัจจุบัน

ในปี 2510 อาจารย์ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นบุคคลแรกที่วินิจฉัยยืนยันการติดเชื้อโรคหัดเยอรมัน และพบความสัมพันธ์ของการป่วยเป็นหัดเยอรมันในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลให้เกิดความพิการแต่กำเนิดของทารกแรกเกิด ขณะนั้นไม่มีวิธีการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องและยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว คุณหมอประเสริฐ ทองเจริญ ได้ทำการศึกษาวิจัยต่อเนื่องถึง 20 ปี และได้ผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเป็นนโยบาย ให้ฉีดวัคซีนในนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทุกคนโดยไม่คิดมูลค่า

ปี 2511 อาจารย์ประเสริฐ ทองเจริญ ท่านเป็นบุคคลแรกในประเทศไทยที่นำวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้าโดยการย้อมด้วยสารอิมมูนเรืองแสง (FA test) มาใช้ตรวจหาเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า ทำให้วินิจฉัยโรคได้แม่นยำรวดเร็ว ทราบผลภายใน 1 วัน กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำวิธีการนี้ไปใช้ในการตรวจวินิจฉัยทั้งมนุษย์และสัตว์จนถึงปัจจุบัน

ท่านอาจารย์ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นบุคคลแรกของไทยที่แยกเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้สำเร็จในปี 2522 คือเชื้อไวรัส A/Bangkok/2/1979/H3N2 ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้นำมาบรรจุเป็นส่วนประกอบในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อใช้ป้องกันการระบาดในระดับสากล

ในปี 2527 เมื่อเกิดผู้ป่วยเอดส์รายแรกของไทย อาจารย์ประเสริฐ ทองเจริญ มีบทบาทอย่างมากในการควบคุมโรคเอดส์ทั้งในเวทีไทยและเวทีโลก และส่งผลทำให้ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาตร์ศิริราช ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลกให้เป็น “ศูนย์ความร่วมมือด้านโรคเอดส์แห่งองค์การอนามัยโลก”

ปี 2546 ท่านเป็นบุคคลแรกที่สามารถแยกเชื้อไข้หวัดนก (Bird Flu Virus, H5N1) ในประเทศไทย และได้ร่วมพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนก จนได้รับการจดทะเบียนเพื่อใช้ในการป้องกันโรคไข้หวัดนกในคนอีกหลายประเทศ

โดยในปี 2546 นั้น อาจารย์ประเสริฐ ทองเจริญ ได้ออกมากดดันให้รัฐบาลประกาศความจริงในเรื่องไข้หวัดนกติดจากคนสู่คนจนเสียชีวิตได้ ถ้าไม่ประกาศหมอประเสริฐจะประกาศเอง สร้างความไม่พอใจในเรื่องดังกล่าว เพราะเรื่องดังกล่าวนี้กระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวกับไก่ จนปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ลงข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นบอกว่า “ไอ้หมอบ้า” แต่หมอประเสริฐในเวลานั้นไ้ด้บอกกับทีมงานอย่างน่าประทับใจว่า “เราไม่ยอมแล้ว นี่คือชีวิตของคนที่เสียไปแล้ว เราไม่ยอม ยังไวเราก็ต้องเปิดเผยความจริง”

นอกจากนั้นอาจารย์ประเสริฐ ทองเจริญ ได้ฝากผลงานการแต่งตำราต่างๆ เช่น ตำราโรคพิษสุนัขบ้า หนังส์อวัคซีนและซีรั่ม หนังสือชุดระบาดบันลือโลก (34 เล่ม) รวมทั้งผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการบทความ จำนวนมากมายกว่า 200 เรื่อง และได้รับรางวัลมากมายจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงถือได้ว่าท่านเป็น “เอนไซโคปีเดียแห่งไวรัสวิทยา” เลยก็ได้

ในครั้งหนึ่งเมื่อเกิดการไข้หวัด 2009 ระบาดนั้น มีนักวิชาการบางคนไปวิจารณ์เรื่องไข้หวัดใหญ่ในหนังสือพิมพ์ เกิดกระแสโจมตีมาที่กระทรวง ปรากฏว่าคณะกรรมการควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขในเวลานั้นกลับเชิญให้นักวิชาการฝีปากกล้าเหล่านั้นเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการด้วยเหตุผลว่า “ให้ทะเลาะกันในห้อง”

คุณหมอประเสริฐ ทองเจริญในเวลานั้นไม่มีเจตนาสั่งสอนคนที่มาลองดี เพราะวัตถุประสงค์หลักของท่านคือสร้างนักวิชาการรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อภารกิจร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อป้องกันโรคระบาด ซึ่งเป็นศัตรูที่แท้จริงของประชาชน มือประสานสิบทิศอย่างคุณหมอประเสริฐพูดอยู่เสมอว่า :

“ผู้ที่มีความเห็นต่างไม่ใช่ศัตรู ไม่ใช่ปรปักษ์ ปรปักษ์ของผมในขณะนั้น และในขณะปัจจุบันคือไวรัส…ไม่ใช่คน… ทางออกของผมก็คือการประสานความคิดความเห็นให้ไปด้วยกันให้ได้”

บทเรียนในครั้งนั้นก็คือ ความแตกต่างทางวิชาการเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรนำมาร่วมทำงานกับรัฐบาล มากกว่าจะกีดกันออกไปเพียงเพราะว่าคิดไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่กองเชียร์ทั้งหลายก็ควรจะตั้งสติว่าความคิดเห็นนั้นมีเหตุมีผลหรือเป็นการตั้งคำถามที่เป็นประโยชน์หรือไม่ เพราะความเห็นที่หลากหลายจากผู้ทรงคุณวุฒิย่อมจะเป็นประโยชน์ที่ทำให้เรามองเห็นรอบด้าน โดยเฉพาะผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์ในการรับมือกับโรคระบาดมาแล้วยิ่งต้องควรจะรับฟังให้มาก

ผมทราบมาว่าหนึ่งในนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์ในสื่อมวลชนเวลานั้น ที่ถูกเชิญเข้ามาทำงานร่วมกับกับอาจารย์ประเสริฐ ทองเจริญ ก็คือ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ซึ่งก็เป็นแพทย์ที่เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับอาจารย์ประเสริฐ ทองเจริญเรื่อยมาอย่างยาวนานเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อดูประวัติของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในเวลานี้ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าได้มามีส่วนร่วมกับอาจารย์ประเสริฐ ทองเจริญ ในเรื่องไวรัสและการะบาดอย่างไร

ปี พ.ศ. 2548 ตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้ง คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการป้องกันโรคติดต่อจากค้างคาว ตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข

ปี พ.ศ. 2548 -2549 ตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการดำเนินการตามโครงการชุมชนน่าอยู่ปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้าในกรุงเทพมหานครและจังหวัดรอบปริมณฑล

ปี พ.ศ. 2551 – ปัจจุบัน ตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านค้นคว้าและอบรม โรคไวรัสสัตว์สู่คน

ปี พ.ศ. 2552 – ปัจจุบัน ตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการสนับสนุนการป้องกัน ควบคุม และการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (H1N1) 2009 (สสส.)

ปี พ.ศ. 2553 – ปัจจุบัน ตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งได้รับเชิญเป็นผู้ประเมินโครงการขององค์การอนามัยโลก (1 ใน 35 คน) ด้านยุทธศาสตร์ในโรคติดต่อสัตว์สู่คน (Zoonotic Strategy)

ปี พ.ศ. 2556 – ปัจจุบัน ตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการและยุทธศาสตร์ เพื่อเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ

ปี พ.ศ. 2558 ได้รับรางวัล นิสิตเก่ายิ่งคุณค่า(ตรวจพบเมอร์สโคโรน่ารายแรกในประเทศไทย) จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดูประวัติเต็มตามลิงค์ด้านล่าง
https://th.m.wikipedia.org/wiki/ธีระวัฒน์_เหมะจุฑา

เอาเข้าจริงแล้วการประเมินและคำเตือนของ ศ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ก็สอดคล้องกับสถานการณ์จริงในปัจจุบันมากที่สุดคนหนึ่งด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้น ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เป็นแพทย์คนแรกที่ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์(Favipiravir) ซึ่งกำลังนำมาใช้กับโควิด-19 ในเวลานี้ ตั้งแต่ปี 2548 เนื่องจากศึกษายาที่จะรักษาโรคพิษสุนัขบ้าและศึกษายากลุ่มต่างๆที่ครอบจักรวาลรักษาไวรัส RNA และใช้ยาตัวนี้ในสัตว์ทดลอง ปรากฏว่าสามารถรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในหนูได้ โดยที่หนูรอด 10% ทั้งๆที่ต้องตาย 100%

และรายงานในวารสารโรคติดเชื้อของสหรัฐอเมริกา ในปี 2016 และจากการรวบรวมข้อมูลของยาครอบจักรวารต่างๆ เมื่อมีโควิด-19 ระบาด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขรียตุนยาตัวนี้ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2563 แต่ในที่สุดยาตัวดังกล่าวนี้ได้เข้ามารักษาผู้ป่วยในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 และจำนวนยาใช้ได้พอสำหรับผู้ป่วยประมาณ 600 ราย

และต่อมาทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้พยายามซื้อยาจากที่ต่างๆ โดยล่าสุดได้มาเพียงพอสำหรับผู้ป่วยอีก 2,857 ราย รวมกับที่เหลือจากล็อตแรกน่าจะอยู่ได้สำหรับผู้ป่วย 3,000 กว่าราย และหวังว่าจะสามารถหาได้เพิ่มเติมอีก ทั้งนี้ถ้าโชคดีมีผู้ป่วยไม่มากและเลือกใช้กับผู้ป่วยที่จำเป็นจริงๆ และในกรณีได้มาเยอะพอก็ยังสามารถใช้กับไวรัสตัวอื่นๆได้อีก

แม้นในวันนี้ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ จะไม่ได้มีชีวิตอยู่แล้ว แต่มรดก ทีมงานและวิธีการทำงานของท่านยังดำรงอยู่ อีกทั้งยังมีเนื้อหาและวิธีการรับมือกับไวรัสการควบคุมพื้นที่การขนส่งเดินทางที่มีบันทึกเอาไว้อย่างน่าสนใจอย่างยิ่ง หากใครนำมาอ่านแล้วก็น่าจะได้นำมาใช้เป็นประโยชน์เพื่อประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์จริงในปัจจุบัน ให้พวกเราทั้งหมดสามารถผ่านสถานการณ์ดังกล่าวนี้ไปให้ได้อย่างดีที่สุด