ชาวนาเฮลั่น ราคาข้าวกระเตื้องแตะ 10,000 จ่ายประกันรายได้ชาวนางวดถัดไป 8 เมษา 63

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบให้ขยายโครงการชะลอการขายข้าวเปลือกของชาวนาออกไป จากเดิมสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ เป็น สิ้นเดือนเมษายน และสิ้นเดือนกรกฎาคมสำหรับข้าวในภาคใต้

โดยการเพิ่มยอดการชดเชยการชะลอขายข้าวจาก 1,000,000 ตันเป็น 1,500,000 ตันโดยชดเชยให้เกษตรกรที่เก็บสต๊อกข้าว ตันละ 1,500 บาท

สำหรับสถาบันการเกษตร หรือสหกรณ์ จะชดเชยให้ตันละ 1,000 บาท และชดเชยให้เกษตรกรที่เก็บข้าวไว้กับสหกรณ์ตันละ 500 บาทด้วย ซึ่งเป็นการเพิ่มวงเงินจากเดิม 10,000 ล้านบาทเป็น 15,000ล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกในตลาดกระเตื้องขึ้นสูงเป็นลำดับ เพราะนอกจากจะเกิดจากมาตรการส่งเสริมให้ชาวนาเก็บสต๊อกข้าวไว้โดยได้รับเงินชดเชยแล้ว ตลาดต่างประเทศก็ยังมีต้องการเพิ่มสูงขึ้น เช่นในตลาดญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะขณะนี้ราคาข้าวเปลือกเจ้า ที่ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาทางการที่กระทรวงพาณิชย์รายงานสำหรับข้าวนาปรังขึ้นมาอยู่ที่ราคา 9,200 บาท -10,500 บาทต่อตัน

ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ อยู่ที่ 14,000 – 15,300 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกหอมประทุม อยู่ที่ราคา 10,000-10,500 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวอยู่ที่ราคา 15,600 บาทถึง 17,500 บาทต่อตัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนยังได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เฝ้าติดตามสถานการณ์ข้าวอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกษตรกรสามารถขายข้าวเปลือกได้ในราคาที่ดีที่สุด และขณะเดียวกันก็ต้องติดตามราคาข้าวสารถุงสำหรับบริโภคและตัวเลขการส่งออกข้าวควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้สถานการณ์ข้าวของประเทศในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับภัยโควิด-19 อยู่ในขณะนี้เกิดความสมดุลที่สุด

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่าอย่างไรก็ตามหากราคาข้าวชนิดใดชนิดหนึ่งตกต่ำลงมา นโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ก็ยังคงอยู่ และสามารถช่วยชดเชยเงินส่วนต่างของรายได้ให้กับชาวนาต่อได้ สำหรับการโอนจ่ายเงินส่วนต่างของงวดถัดไปคือวันพรุ่งนี้ 8 เมษายน