‘สมชาย’ ยก 5 เหตุผล ยัน ‘สนช.’ แค่ทำหน้าที่แทน ‘สส.-สว.’ มิอาจทำให้กลายเป็น ‘สส.-สว.’ ได้

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อ 9 มิ.ย. 2563 โดยมีรายละเอียดดังนี้

ความจริงที่ไม่ค่อยอยากเขียนเรื่องนี้เท่าใดนัก เพราะเดี๋ยวจะมีคนพยายามลากไปหาว่าแก้ตัว

แต่จำเป็นต้องตอบในข้อกฎหมายเพื่อความเข้าใจง่ายๆ ที่มีคนถามหรือพยายามตีความกฎหมายมั่วๆงงๆให้สับสนพยายามจะให้สนชเป็น สส. สว. ตามความเข้าใจของบุคคลนั้นเอง

แต่หาใช่ข้อกฎหมายที่ถูกต้อง!!!

เพราะสนชก็คือ สนช. ทำหน้าที่แทนสส. สว. เท่านั้น มิอาจทำให้สนช.ที่ทำหน้าที่แทนนั้นกลายเป็นสส. สว. ได้

ด้วยความเห็นประกอบข้อกฎหมายต่างๆเพื่อประกอบการพิจารณาดังนี้

1.สนช. มิใช่สส. สว. เหตุเพราะสนช.นั้นมาจากการแต่งตั้งจากคำแนะนำของคสช. ตาม รัฐธรรมนูญชั่วคราว2557 เป็นองค์กรพิเศษ เช่นเดียวกับคสช. เพื่อทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติพิจารณากฎหมายและอื่นๆแทน สภาผู้แทนราษฏร วุฒิสภา และรัฐสภา ที่ถูกยกเลิกไปในภาวะพิเศษที่มีการรัฐประหารและยกเลิกรัฐธรรมนูญเดิมไป

2.สนช.มิได้มีสถานะเป็นข้าราชการ​การเมือง​ ตาม​ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง​ พ.ศ.2535 มาตรา​4​ ได้กำหนดให้ข้าราชการการเมือง​ได้แก่​ นายกรัฐมนตรี……. ที่ปรึกษา เลขานุการ​ รมต. ที่ปรึกษาเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฏรหรือประธานวุฒิสภาฯลฯ

3.สนช.มิใช่ผู้มีสถานะ​เป็น​ สส.หรือ​ สว.ตาม​ รธน.พ.ศ.2560​ เนื่องจาก​ มาตรา​ 263 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้​ สนช.ตาม​รธน.​พ.ศ.2557 ทำหน้าที่เป็น​ สส.หรือ​สว.เท่านั้น​ มิได้บัญญัติ​ให้ดำรงตำแหน่งหรือเป็น​ สส.หรือ​ สว.แต่อย่างใด

4.ผู้เคยดำรงตำแหน่ง​ สนช.จึงมิได้เป็นผู้มีลักษณะ​ต้องห้ามดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ​ ปปช.หรือองค์กร​อิสระอื่นเพราะตำแหน่งดังกล่าวมิได้เป็นข้าราชการการเมืองและมิได้เคยเป็น​ สส. หรือ สว.​ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

5.ผู้เคยดำรงตำแหน่ง​ สนช.จึงไม่เป็นผู้ขาดคุณสมบัติ​การดำรงตำแหน่ง​ สว.ตาม​ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง​ ​สว.​ พ.ศ.2561 มาตรา 14(20) และตาม​ รธน.มาตรา​ 108 ข.(3)(8)

อีกทั้งมาตรา​ 236​ วรรคท้ายแห่ง​ รธน.พ.ศ.2560​ ยังได้บัญญัติ​มิให้​ สนช.สมัครรับเลือกตั้ง​เป็น​ สส.ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้ง​แรกไว้เป็นการเฉพาะ​

ดังนั้นหาก​ รธน.จะมีเจตนารมณ์​ที่ห้าม​ สนช.ลงสมัครรับเลือกเป็น​ สว.ก็จะต้องบัญญัติ​ไว้เป็นการเฉพาะด้วยเช่นเดียวกัน

สรุปคำถามที่ว่าถ้าอย่างนั้น สนช. คือใคร

คำตอบก็คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดยคสช ที่เป็นองค์กรพิเศษที่ทำหน้าที่ชั่วคราวแทนสภา เช่นเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยคดีพลเอกประยุทธ์ หัวหน้าคสช มิใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เพราะตำแหน่งหัวหน้า คสช. มาจากการยึดอำนาจการปกครองประเทศ การแต่งตั้งหัวหน้า คสช. เป็นผลสืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจและเป็นการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ อีกทั้งไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหน่วยงานใด และ มีอำนาจหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นหัวหน้า คสช. จึงไม่มีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกับหน่วยงานราชการ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ด้วยเหตุนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกร้องจึงไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) ของรัฐธรรมนูญ