‘รังสิมันต์’ สุดภูมิใจ ‘กมธ.กฎหมายฯ’ เคาะมติส่ง ร่างพ.ร.บ.อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน ให้สภาพิจารณา

ขอบคุณรูปภาพจากเฟซบุ๊กเพจ Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม

รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อ 8ก.ค. 63 ว่าที่ประชุมกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน มีมติส่ง ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ… เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและนำไปสู่ขั้นตอนกระบวนการออกกฎหมายต่อไป โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากพรรคการเมืองทุกพรรคไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล โดยมีการร่วมลงชื่อของ ส.ส.กว่า 100 รายชื่อ

ผมคิดว่าหลังจากเปิดประชุมสภามา ทางคณะกรรมาธิการฯ ก็ทำงานกันอย่างแข็งขัน ตลอดเวลาที่ทำงานมา มีการสนับสนุนและพร้อมใจกันของกรรมาธิการที่อยากให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภา นี่คือความภาคภูมิใจของการทำงานกรรมาธิการ เป็นผลงานและความตั้งใจที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นความสำเร็จของกรรมาธิการทั้งคณะ ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายและซ้อมทรมานฯ เป็นร่างที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว

โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีจุดเริ่มต้นจากที่ภาคประชาชนได้ยื่นเข้าสู่ กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนในช่วงที่อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ยังเป็นประธาน กมธ.คณะนี้ และได้มีการศึกษาและพิจารณาแก้ไขจากร่างของภาคประชาชน

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีความสำคัญทั้งต่อภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยภายในประเทศนั้น แม้แต่พรรคการเมืองจะมีความเห็นที่แตกต่างกันในหลายเรื่อง แต่กับเรื่องการแก้ปัญหาซ้อมทรมานและอุ้มหายนั้นทุกฝ่ายกลับเห็นพ้องต้องกัน นี่จึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่อาจนำเราไปสู่แสงสว่างปลายอุโมงค์ของการแก้ปัญหาดังกล่าวได้

และในระดับระหว่างประเทศนั้น ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะเป็นการออกกฎหมายภายในประเทศเพื่อให้สอดคล้องต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับการป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายที่ไทยได้ร่วมเป็นภาคี ซึ่งจะเป็นการยกระดับสถานะของไทยให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นอกจากร่างที่ผ่านการปรับปรุงโดยคณะกรรมาธิการฯ แล้ว ยังมีร่าง พ.ร.บ. เรื่องดังกล่าวถูกเสนอเข้ามาอีก 3 ฉบับ ได้แก่ร่างของกระทรวงยุติธรรม ร่างของพรรคประชาชาติ และร่างของพรรคประชาธิปัตย์

ต่อจากนี้ไปร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 4 ฉบับจะถูกนำมาพิจารณาร่วมกันในสภาผู้แทนราษฎรใน 3 วาระด้วยกัน ดังนี้

  1. วาระที่หนึ่ง เรียกว่า ‘ขั้นรับหลักการ’ เป็นการพิจารณาหลักการของร่างกฎหมาย โดยผู้เสนอร่างกฎหมายจะมาชี้แจงหลักการและเหตุผลประกอบ ความจำเป็นที่ต้องออกกฎหมาย
  2. วาระที่สอง เรียกว่า ‘ขั้นกรรมาธิการ’ เป็นการพิจารณาร่างกฎหมายเป็นรายมาตรา อาจเพิ่ม ตัดทอนหรือแก้ไขบางมาตรา หรือบางถ้อยคำให้สมบูรณ์ขึ้น แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับหลักการของร่างกฎหมายฉบับนั้น
  3. วาระที่สาม เรียกว่า ‘ขั้นลงมติเห็นชอบ’ เป็นการลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายทั้งฉบับ ไม่มีการอภิปรายใดๆ และจะแก้ไขข้อความใดๆ ไม่ได้ ถ้ามีมติเห็นชอบก็จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา แต่ถ้าไม่เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. นั้นก็เป็นอันตกไปครับ

โปรดติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไปนะครับ