ส.ว.เสรี อธิบายกฎหมายคดี ‘ขับรถชนตาย’ ต้องยึดพยานหลักฐาน คนขับ-คนรวยไม่ได้ผิดเสมอไป

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊เรื่อง “อุทาหรณ์ คดีขับรถชนคนตาย” โดยมีรายละเอียดดังนี้ ตอนนี้มีข่าวดังในกระบวนการยุติธรรมเป็นที่สนใจวิพากษ์วิจารณ์กันทั้งประเทศ ในเรื่องของคดีขับรถชนคนตายแล้วหลบไปอยู่ต่างประเทศ แต่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง จึงอยากให้ความรู้ทำความเข้าใจในข้อกฎหมายเป็นหลัก

ซึ่งคดีขับรถชนคนตาย ต้องดูว่าเป็นอุบัติเหตุหรือตั้งใจ หากเป็นอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่จะเป็นการกระทำโดยประมาท

ข้อหาที่จะได้รับ ก็จะเป็นข้อหา “ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย”

ส่วนที่คนขับรถชนจะพ้นผิดได้ ก็คงต้องเป็นกรณีที่ คนตายฝ่ายเดียวเป็นฝ่ายผิดเป็นหลัก

ในทางกฎหมายและพยานหลักฐานต้องเข้าใจว่า คนชนไม่ใช่เป็นผู้ผิดเสมอไป หากฟังได้ว่าคนตายเป็นฝ่ายประมาทหรือเป็นฝ่ายผิด คนชนก็ไม่ผิดได้ แต่ส่วนใหญ่เวลาขึ้นโรงพักหรือเกิดคดีความขึ้น ก็จะเข้าใจว่าคนชนเป็นคนผิดเสมอไป

ประการสำคัญต้องดูว่าพยานหลักฐานเป็นอย่างไร

ในทางกฎหมายได้บัญญัติกำหนดให้อัยการสูงสุดมีคำสั่งสุดท้ายที่จะฟ้องหรือไม่ฟ้องได้ ซึ่งต้องเป็นไปตามพยานหลักฐานและข้อกฎหมาย

เพื่อเป็นไปตามกฎหมายที่สามารถให้มีการยุติคดีได้โดยไม่ต้องให้ไปศาลทุกคดรโดยให้อัยการตรวจสอบพยานหลักฐานแล้วทำคำสั่งฟ้องและคำสั่งไม่ฟ้องได้ ซึ่งเป็นหลักที่ใช้กับทุกๆคดี

จริงๆแล้ว มันอยู่ที่พยานหลักฐาน

คดีขับรถชนคนตายมักมองกันว่า คนชนเป็นฝ่ายผิดและคนตายเป็นฝ่ายถูกเสมอ ความจริงแล้ว คนชนและคนตายมีโอกาสเป็นฝ่ายถูกหรือเป็นฝ่ายผิดเท่าเทียมกัน

หลายคนตอนเกิดเรื่อง ตกใจเลยหลบไปก่อนก็มี ทำผิดแล้วหลบหนีก็มี ไม่ได้ทำผิดแล้วตกใจหลบหนีก็มี

ความเป็นธรรมไม่ใช่อยู่ที่เป็นคนรวยหรือเป็นคนจน ทุกคนต้องอยู่ภายใต้ความยุติธรรมและกฎหมายเดียวกัน

ที่ผ่านมา เมื่อเกิดเรื่องแล้ว ทุกคนย่อมดิ้นรนต่อสู้ เพราะทุกคนไม่มีใครอยากติดคุก แต่ต้องต่อสู้คดีด้วยความถูกต้อง

หากผิดแล้วยอมรับผิด แล้วใช้วิธีการเยียวยาฝ่ายที่ได้รับความเสียหาย ก็สามารถทำได้ เพราะกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมักให้โอกาสคนเสมอ

แต่มันเป็นเวรกรรมที่คนรวยก็มักจะถูกมองว่าชนะคดีเพราะวิ่งเต้นเส้นสาย

สังคมไทยมักถูกมองเช่นนั้น ซึ่งมันก็เป็นความจริงเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป

จริงๆแล้ว คดีขับรถชนคนตายที่เกิดจากความประมาทนั้น ไม่ต้องปล่อยบานปลายไปถึงขนาดนี้ เนื่องจาก เป็นเรื่องที่เกิดจากความประมาท หากได้ชดใช้ค่าเสียหายเยียวยาจนฝ่ายที่เสียชีวิตพอใจและไม่ติดใจเอาความแล้ว อีกทั้งคนขับไม่เคยทำผิดมาก่อน มีประวัติที่ดี การศึกษาดี การงานดี เหตุผลเท่านี้ก็ไม่ควรติดคุกแล้ว และหากกระทำประมาทจริงศาลก็มักพิพากษารอการลงอาญาไว้ ให้โอกาส ยังไม่ควรให้ต้องติดคุกติดตะราง ศาลก็มักตัดสินคดีในลักษณะเช่นนี้อยู่บ่อยๆ

ขอย้ำว่า คดีความทั้งหลายจึงต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานเป็นสำคัญ

แต่คงเพราะเป็นคนดัง เป็นมหาเศรษฐีมีเงิน คนเสียชีวิตเป็นตำรวจ เป็นข่าวใหญ่ข่าวดังเลยตกใจหนีออกจากประเทศไป เลยทำให้คนเชื่อไปว่าเป็นความผิด

แต่พออัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง แม้จะว่าตามพยานหลักฐาน คนเลยยังไม่ค่อยเชื่อ เพราะมันมีการหลบหนีเกิดขึ้น

ยิ่งสื่อในสังคมออนไลน์ ส่งข้อความกันกระหน่ำ พิพากษาตัดสินแทนศาลไปแล้ว กลายเป็นว่าคนจนติดคุกคนรวยไม่ติดคุก

ขอบอกตามตรงว่า ไม่อยากให้สถานการณ์เป็นเช่นนั้น มันจะทำให้เกิดข้อเรียกร้องเหมือนเรื่องที่เกิดกับคนผิวสี ในสหรัฐอเมริกา มันไม่ใช่เรื่องดีสำหรับคนไทย ในประเทศไทย

ต้องเข้าใจว่าสำนวนคดี เริ่มจากตำรวจ มาที่พนักงานอัยการ และมาจบที่อัยการสูงสุด

เรื่องเช่นนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอัยการควรต้องชี้แจงแถลงไขให้สาธารณชนได้เห็นได้เข้าใจ มิฉะนั้น จะกระทบกระบวนการยุติธรรมไปทั้งระบบ

เนื่องจากอัยการเอง เป็นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่ใช้ดุลพินิจให้ความเป็นธรรมในการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีได้ดังกล่าว ที่ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำมาด้วยดีตลอด

ด้วยความเป็นห่วงองค์กรอัยการจริงๆ ไม่อยากให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจผิด มันจะกลายเป็นว่า คนจนติดคุก คนรวยไม่ติดคุกอย่างที่ว่า เพราะหากคนมีความไม่เชื่อกระบวนการยุติธรรมเสียแล้ว สังคมจะขาดความสงบสุข.