เลขาฯครป. หวังสภาเป็นทางออกความขัดแย้ง จี้ ส.ส. อย่าโหวตสวนกระแสประชาชน

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ตนคาดหวังว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 10 รัฐมนตรีในครั้งนี้จะทำให้บ้านเมืองมีทางออก และผู้มีอำนาจจะได้ต้องรับผิดชอบในการประพฤติมิชอบที่ผ่านมา ในความขัดแย้งทางการเมือง เราต้องรักษาระบบรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยไว้ให้ดี ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ทุกเรื่องในสังคม ข้อเสนอในการปฏิรูปประเทศ และเปลี่ยนแปลงกฎหมายต่างๆ ต้องสามารถจัดการและหาทางออกโดยระบบรัฐสภาได้เพราะเป็นศูนย์กลางแห่งตัวแทนของประชาชน รวมถึงปัญหาสงครามความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง เพื่อสร้างความสมานฉันท์และปรองดองต่อกัน ล้วนเป็นหน้าที่ของรัฐสภาโดยตรง ไม่เช่นนั้นแล้ว หากการทำหน้าที่ของรัฐสภาบกพร่องไม่สามารถหาทางออกให้ประเทศได้ ก็จะมีการโจมตีว่านักการเมืองไม่ทำหน้าที่ จนเกิดทางตันในระบบรัฐสภา ซึ่งมักจะเป็นข้ออ้างให้เกิดการรัฐประหารโดยกองทัพ

“ดังนั้นเห็นผมเห็นว่าปัญหาทุกอย่างในประเทศนี้ควรมีการหาทางออกในรัฐสภาให้ได้ เพื่อแก้ไขและเยียวยาสถานการณ์เป็นทางออกให้ประชาชนที่ลงสู่ท้องถนน และเราก็ไม่อยากให้สังคมกลับไปจับอาวุธสงครามกลางเมือง เหมือน 40 ปีที่แล้ว ดังนั้น ปัญหาความสัมพันธ์ทางอำนาจ ปัญหาอุดมการณ์ทางการเมือง รวมถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือการเมืองและภายใต้รัฐธรรมนูญ สมควรหยิบยกถกเถียงและนำเสนอได้ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เป็นปัญหา”

นอกจากนี้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีในครั้งนี้ จะต้องเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่มวยล้มต้มคนดู หลังจากมีข่าวลือว่าสมาชิกพรรคฝ่ายค้านบางส่วนก็ไปรับการแจกเงินและงดเว้นการอภิปรายในบางเรื่องและบางคน เพื่อให้สังคมไทยที่ตกอยู่ในภาวะแห่งความขัดแย้ง ได้ตระหนักว่านักการเมืองได้ทำหน้าที่ของตนเองจริงๆ ในการตรวจสอบผู้มีอำนาจที่เข้มแข็ง เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งจากด้านนอก โดยใช้ข้อมูลความเป็นจริงที่มีอยู่อย่างเต็มที่ภายใต้เอกสิทธิ์คุ้มครองที่ได้รับ

“ผมไม่อยากให้มีบรรยากาศการประท้วงไปมาเพื่อซื้อเวลาในการอภิปราย ซึ่งจะทำให้ ประเทศเสียโอกาส เสียเวลาที่มีอยู่ และ สมาชิกสภาฯ ทั้งหลายควรได้ใช้สิทธิ์เสียงของตนเองโหวต ตามเจตน์จำนงเสรีทางการเมืองอย่างแท้จริง ไม่ใช่โหวตตามมติพรรค หากเห็นว่ารัฐมนตรีคนใดชี้แจง ข้อกล่าวหาไม่ได้ ก็ต้องโหวตไม่ไว้วางใจตามความเห็นของสังคม ไม่ใช่โหวตสวนความรู้สึกของประชาชน ไม่เช่นนั้นแล้วเขาจะมองว่า นี่คือรูปแบบเผด็จการพรรคการเมืองในระบบรัฐสภาอีกรูปแบบหนึ่ง ที่มีผู้มีอำนาจและทุนเป็นศูนย์กลางเป็นคนกำหนดพรรค กำหนดนโยบาย กลายเป็นระบอบเผด็จการทุนนิยมพรรคการเมืองในที่สุด ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบรัฐสภาและนำประเทศมาสู่ทางตันในหลายยุคที่ผ่านมา “

เลขาฯครป. กล่าวว่า สังคมจะเดินไปข้างหน้าได้ เราต้องการระบบรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย เพื่อสร้างประชาธิปไตย หาไม่แล้ว ก็จะถูกฉวยโอกาสจากกองทัพและกลุ่มอำนาจนิยมที่มีทุนกำกับอยู่เบื้องหลัง ฉวยโอกาสคอรัปชั่นอำนาจ ยึดอำนาจการปกครองไปเป็นของตนเองในที่สุด.