1 ปีการบังคับสูญหายวันเฉลิม ‘อังคณา’ พิสูจน์ความจริงใจของรัฐ

นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง “1ปีการบังคับสูญหายวันเฉลิม: บทพิสูจน์ความจริงใจของรัฐ และสิทธิของประชาชนในการเห็นต่างหรือต่อต้านรัฐ” มีรายละเอียดดังนี้

#การบังคับสูญหาย มีต้นกำเนิดคำมาจากภาษาสแปนิช คือ “เดสแอปาเรซิโด (desaparecido) หมายถึงการที่ใครบางคนถูกทำให้ “หายไปตลอดกาล” ไม่อยู่ทั้งที่นี้ หรือที่ไหน ไม่เป็นทั้งการมีชีวิตอยู่ หรือตาย ผู้บังคับให้บุคคลสูญหายมักอ้างว่าผู้สูญหายนั้นไม่มีตัวตน ไม่มีปรากฏ ไม่อยู่ในปัจจุบัน กรณีของวันเฉลิมก็เป็นลักษณะเดียวกัน คือการถูกปฏิเสธการมีตัวตน และที่อยู่ จึงเป็นภาระของครอบครัวที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า วันเฉลิม มีตัวตนจริง และมีถิ่นฐานพำนักจริงในประเทศกัมพูชา แม้ครอบครัวจะอ้างพยานหลักฐานมากมายแต่ดูเหมือนว่าไม่มีเพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลไทยและกัมพูชายอมรับว่า “วันเฉลิม” ถูกอุ้มหายจริงในประเทศกัมพูชา จึงไม่แสดงการรับรู้ใดๆ และเมื่อญาติไม่สามารถทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเชื่อได้ การทำให้คนหายไปจึงเป็นวิธีการในการหลบเลี่ยงการถูกลงโทษ เพราะผู้กระทำเชื่อว่าญาติจะไม่สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้หากไม่พบศพของผู้สูญหาย เมื่อหาศพไม่พบ ก็ไม่มีการก่ออาชญากรรม และไม่มีใครต้องรับผิด

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรรัฐยังคงมีหน้าที่ต้องสืบสวนสอบสวนจนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย (fate and whereabouts) #รัฐไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อพลเมืองของตนได้ การบังคับสูญหายจึงเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องที่ไม่มีอายุความ โดยอายุความจะเริ่มนับเมื่อทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย

การปฏิเสธการไม่มีตัวตนของวันเฉลิม ทั้งที่มีพยานหลายคนยืนยันจึงเป็นการปัดความรับผิดชอบอย่างน่าละอายของรัฐ

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา การหายสาบสูญของผู้ที่เห็นต่างจากรัฐหลายๆคนในประเทศเพื่อนบ้านในช่วงเวลาไร่เรี่ยกัน จึงอาจถูกมองว่าเป็นเทคนิควิธีในการกำจัดศัตรูทางการเมือง และสร้างความสะพรึงกลัวต่อครอบครัวและสังคมอย่างเป็นระบบ

ตามกฎหมายสากลเมื่อ #การบังคับสูญหายได้กระทำอย่างเป็นระบบ หรือกระทำอย่างกว้างขวางโดยนโยบายของรัฐที่กระทำต่อประชาชน ไม่ใช่การอุ้มหายเพียง 1-2 กรณี การกระทำดังกล่าวจะถูกยกระดับเป็น #อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หรือ crime against humanity ซึ่งจะไม่มีอายุความเพราะถือเป็นหลักการของธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statue) เรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) ที่กำหนดว่าความผิดที่เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติจะไม่มีอายุความ และเมื่อเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติแล้วจะอยู่ในอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court-ICC)

ในรายงานของประเทศไทยที่เสนอต่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน สหประชาชาติ ฉบับที่ 2 ประเทศไทยระบุว่ารัฐบาลไทยได้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อติดตามผู้ถูกบังคับสูญหาย โดยมีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นประธาน และ กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน เป็นเลขานุการ โดยปัจจุบันคณะกรรมการฯ ได้ “ถอน” กรณีร้องเรียนการบังคับสูญหายต่อคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ สหประชาชาติ (UN WGEID) แล้วทั้งสิ้น 12 คดี จากยอดผู้สูญหาย 87 คดี ในประเทศไทยโดย ทั้งนี้คณะกรรมการระดับชาติฯ ของไทย มิได้อธิบายว่าการ “#ถอน” เรื่องร้องเรียนหมายถึงอะไร และที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหายที่คณะกรรมการฯ ขอถอนชื่อจากสหประชาชาติเป็นอย่างไร ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หรือเป็นตามคำกล่าวอ้างของญาติผู้สูญหายบางคนที่เล่าว่าถูกกดดันให้ต้อง “จำยอม” ถอนเรื่องร้องเรียนต่อสหประชาชาติด้วยเหตุความหวาดกลัว

#การบังคับสูญหายวันเฉลิม จะยังเป็น #ความคลุมเครือ ต่อไป หากคนไทยยังไม่ร่วมมือกันต่อต้าน เรียกร้องและช่วยกันค้นหาความจริง เพื่อยุติการบังคับสูญหายและเพื่อคุ้มครองพลเมืองทุกคน ในภาพใหญ่การเรียกร้องประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็น มีสิทธิที่จะต่อต้านและเห็นต่างจากรัฐ และสิทธิในการแสดงออกอย่างสันติเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตยคงยากที่ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอาชญากรรมโดยรัฐ และแม้จะมีกฎหมาย กฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็คงเป็นกฎหมายที่ปกป้องคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าที่จะปกป้องพลเมืองทุกคน และวัฒนธรรมการงดเว้นโทษในประเทศไทยก็จะยังคงดำเนินต่อไป

#AKN #EnforcedDisappearance #Impunity #RighttoDissent