เพื่อไทยชูภาพ นายกฯติดดิน ภารกิจแรก ‘ทักษิณ’ เปิบข้าวกับ ‘สมัชชาคนจน’

เมื่อ 10 ก.พ.2565 พรรคเพื่อไทย โพสต์รูปภาพและข้อความในเฟซบุ๊กว่า ประเดิมภารกิจแรกหลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของประเทศไทย ‘ทักษิณ ชินวัตร’ นำคณะทำงานร่วมรับประทานอาหารเที่ยงกับ ‘กลุ่มสมัชชาคนจน’ ประชาชนที่มาปักหลักชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล
.
ประเด็นที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่และประชาชนได้ร่วมหารือกัน คือ ปัญหาที่ยื้อเยื้อมาอย่างยาวนานหลายรัฐบาลแต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ทั้งเรื่องเขื่อน ป่าไม้และที่ดิน อุทยานแห่งชาติประกาศทับที่ทำกินของราษฎร แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษและเคมีของโรงงานจนเจ็บป่วย ประมงพื้นบ้าน เกษตรกรรมทางเลือก สลัม และแรงงานไทยเกรียง โดยมี วัชรี เผ่าเหลืองทอง ชัยพันธ์ ประภาสะวัด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ไพจิตร ศิลารักษ์ และ ฉลาด ยงพฤกษา เป็นตัวแทนผู้ชุมนุมในการหารือครั้งนี้
.
ณวันนั้น ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็เตรียมสำรับอาหารมารับประทานร่วมกัน โดยฝั่งนายกฯ ทักษิณ ได้เตรียมข้าวเหนียว ไก่ย่าง และส้มตำ ขณะที่ฝั่งสมัชชาคนจน ได้ทำอาหารรอต้อนรับ ทั้งแจ่วบอง ปลาป่น แกงอ่อม ปลาทอด ปลาร้าสับ และไข่พะโล้
.
การตั้งวงรับประทานอาหารเป็นไปอย่างเรียบง่าย ทั้งสองฝ่ายต่างพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปราย โดยหนังสือพิมพ์มติชนรายงานเหตุการณ์ในวันนั้นว่า ‘บรรยากาศเป็นไปอย่างทุลักทุเล แต่ก็ดูอบอุ่นไม่เบา’
.
หลังรับฟังปัญหาจากประชาชนทั้งหมดและรับประทานอาหารกันจนอิ่มท้องเป็นที่เรียบร้อย นายกฯ ทักษิณ ได้กล่าวว่า
.
“นโยบายของเรามองการแก้ไขปัญหาแบบมหภาค เมื่อทำได้แล้วจะไปช่วยแก้เรื่องจุลภาคอีกเยอะ ดังนั้นที่จะทำหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้าน พักชำระหนี้เกษตรกร เพื่อต้องการให้เกิดการหมุนเวียนในระบบ สร้างอาชีพให้คนมีรายได้ ปรับโครงสร้างสินค้าเกษตรกรให้เข้าสู่ระบบ ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน ป่าไม้ มีผลกระทบจากภาคราชการรอบรู้ไม่ทันสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงขาดความรู้ความเข้าใจข้อเท็จจริงและเขียนแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยยึดทฤษฏีเท่านั้น”
.
ก่อนจากกันในครั้งนั้น นายกฯ ทักษิณ ได้ทักทายและพูดคุยกับชาวบ้านที่มาปักหลักชุมนุมตลอดทาง พร้อมให้คำมั่นว่าจะแก้ไขปัญหาที่รับฟังจากสมัชชาคนจนในวันนั้นอย่างเป็นรูปธรรม
.
สำหรับแนวทางต่อไปใน ณ วันนั้น ทั้งสองฝ่ายได้มีการนัดหมายการหารือนอกรอบร่วมกันในอีก 2 วันหลังจากนั้น โดยมี ภูมิธรรม เวชชัย ว่าที่รองเลขาธิการนายกฯ ในขณะนั้น รวมทั้งคณะนักวิชการของพรรคไทยรักไทยเป็นตัวแทนในการรับฟังปัญหาและข้อเสนอจากประชาชน
.
นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้จัดตั้งคณะกรรมการติดตามแก้ไขปัญหาฯ รวมถึงนายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่เขื่อนปากมูลเพื่อศึกษาผลกระทบด้วยตนเอง
.
สุดท้ายแล้ว แม้การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลทักษิณทั้ง 2 สมัย จะไม่ลุล่วงสำเร็จตามเป้าประสงค์ของกลุ่มสมัชชาคนจนในทุกข้อเรียกร้อง แต่หลังการพบเจอกันครั้งนั้น รัฐบาลไทยรักไทยได้พยายามหาหนทางแก้ไขปัญหาให้พี่น้องสมัชชาคนจนในทุกด้านอย่างเต็มที่
.
โดยปรากฎให้เห็นตลอดเวลาการทำงานของรัฐบาลของนายกฯ ที่ได้ออกนโยบายแก้ไขความยากจน สร้างโอกาสและความเท่าเทียมเพื่อพี่น้องประชาชน พร้อมผลักดันนโยบายเพื่อประชาชนจำนวนมาก อาทิเช่น กองทุนหมู่บ้าน การพักชำระหนี้เกษตรกร หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP เป็นต้น