นักข่าวชื่อดังฟื้นถุงขนม 2 ล้าน ข้องใจจริยธรรมตั้ง ‘พิชิต ชื่นบาน’ นั่งรมต.

พิชิต ชื่นบาน

29 สิงหาคม นางสาวสมจิตต์ นวเครือสุนทร นักข่าวการเมืองโพสต์เฟซบุ๊กในประเด็นเกี่ยวกับ พิชิต ชื่นบาน จากทนายถุงขนม 2 ล้าน สู่ ว่าที่ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ว่า

“ชื่อ พิชิต ชื่นบาน เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จากการรับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมทนายความให้กับนายทักษิณ ชินวัตร ต่อสู้คดีที่ดินรัชดาช่วงปี 2551 ก่อนตกเป็นข่าวอื้อฉาวหิ้วถุงขนมใส่เงินสดสองล้านบาท ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาลฯ ซึ่งถือเป็นการกระทำละเมิดอำนาจศาล ถูกตัดสินจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา และถูกสภาทนายความลงโทษลบชื่อออกจากทะเบียนผู้ประกอบการวิชาชีพทนาย ทำให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานทนายความไม่ได้เป็นเวลา 5 ปี

ส่วนคดีที่ดินรัชดา ศาลฯพิพากษาจำคุก นายกทักษิณ 2 ปี หนีคดีจนกระทั่งคดีขาดอายุความ

สำหรับนายพิชิต แม้จะถูกลงโทษทั้งจำคุกและลบชื่อออกจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ แต่ยังทำงานให้กับตระกูลชินวัตรต่อเนื่อง จากพี่ชาย ถึงน้องสาว ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นายพิชิต เป็นสส.บัญชีรายชื่อ ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายให้นางสาวยิ่งลักษณ์ และยังเป็นหัวหน้าทีมทนายความสู้คดีจำนำข้าวให้นางสาวยิ่งลักษณ์ด้วย

โดยในปี 2562 พรรคเพื่อไทยใช้กลยุทธ์แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย ตั้งพรรคไทยรักษาชาติขึ้นมา นายพิชิต ก็ไปร่วมงานป็นประธานที่ปรึกษากฎหมาย พรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งต่อมาถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค

การแต่งตั้งนายพิชิต ทำให้เกิดคำถามว่าจะมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรือไม่ โดยเฉพาะ รธน.มาตรา 160 (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”

นางสาวสมจิตต์ โพสต์อีกว่า ย้อนคดีถุงขนมสองล้าน ไม่ใช่สินบน?

สรุปคำสั่งศาลฎีกาที่ 4599/2551

พิพากษาจำคุกนายพิชิต ชื่นบาน นางสาวศุภศรี ศรีสวัสดิ์ และนายธนา ตันศิริ เป็นเวลา 6 เดือน ฐานละเมิดอำนาจศาล นำเงินสองล้านบาทจูงใจให้เจ้าหน้าที่ศาลฯกระทำการอันมิชอบระหว่างการพิจารณาคดีที่ดินรัชดาของศาลฎีกาฯ เป็นการกระทำที่อุกอาจ ท้าทาย และเกิดขึ้นที่ศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุดของประเทศ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามคนประกอบอาชีพทนายและที่ปรึกษากฎหมาย ย่อมตระหนักดีว่า การกระทำดังกล่าวจะทำให้เกิดึความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาลยุติธรรม และจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและความศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ จึงเห็นสมควรลงโทษสถานหนัก เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป ให้จำคุกผู้ต้องหาทั้งสามเป็นเวลาหกเดือน

ท้ายคำพิพากษายังระบุว่า ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานให้ผู้กล่าวหาไปดำเนินการแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งต่อมาก็มีการไปแจ้งความดำเนินคดีความผิดนี้จริง ๆ ผลคือ ตำรวจสั่งฟ้อง แต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ด้วยเหตุผลโดยสรุป จากคำแถลงของนายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2552 ดังนี้

1 ข้อเท็จจริงคดีนี้ไม่พบว่า ทนายความที่ถือถุงใส่เงินมาให้ มีวัตถุประสงค์จะให้เงิน 2 ล้านบาท แต่ได้ความเพียงว่า มีเจตนาจะให้ ขนม ไม่ใช่แสดงตัวมาแต่แรกว่าจะให้เงิน จึงขาดความเป็น ผู้ใด ที่เป็นผู้ให้สินบน

2 เงินของกลาง 2 ล้านบาทเป็นเรื่องสำคัญ แต่กลับไม่มีเงินของกลางในสำนวน และยังไม่ได้ข้อเท็จจริงว่า จะให้เงิน 2 ล้านบาทไปเพื่ออะไร ดังนั้น อัยการจึงมีความเห็นว่า การที่คืนเงินของกลางไปทำให้คดีขาดหลักฐานสำคัญ

3 ไร้หลักฐานเรื่องเจ้าพนักงานผู้รับสินบน แต่คดีนี้พบว่าผู้ที่มารับเงิน คือ เจ้าหน้าที่นิติกร 3 ซึ่งไม่ใช่เจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับอรรถคดี

4 คำสั่งศาลฎีกาให้จำคุกนายพิชิตและพวก เป็นเรื่องละเมิดอำนาจศาล ถือเป็นคนละคดีกับความผิดให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ นำมาเทียบเคียงไม่ได้

5 ด้วยเหตุผลข้างต้น อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้

สำหรับอัยการสูงสุดในช่วงเวลานั้นคือ นายชัยเกษม นิติสิริ ปัจจุบันเป็นแคนดิเดตนายกฯอันดับสามของพรรคเพื่อไทย