ยก ‘เขื่อนแก่งกระจาน’ สอบผ่านพร่องน้ำเกิดผลกระทบน้อย เดือนก.ย.เฝ้าระวังภาคกลาง-ใต้

10 ส.ค. 61 – ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมเกียรติ ประจำวงศ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.)แถลงข่าวการบริหารจัดการแบบบูรณาการ แก้วิกฤตน้ำท่วมในห้วงฤดูฝนปี 2561 โดยระบุว่า สทนช.มีการตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ มีตัวแทนจาก 9 หน่วยงานร่วมปฏิบัติงานตลอด 24 ชม.ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดพื้นที่วิกฤต 2 พื้นที่คือ ภาคอีสาน และภาคตะวันตกที่เขื่อนแก่งกระจาน และโดยเฝ้าระวังเขื่อน 4 แห่ง คือ 1.เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 2.เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร 3.เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี และ 4.เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยกำหนดหน่วยงานทั้งจากส่วนกลางหน่วยงานที่ไปดำเนินการในพื้นที่ และจังหวัด โดยมี ปภ.ดูแล ซึ่งเราต้องบูรณาการปรับแผนตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงการระบายน้ำของกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ในช่วงต้นฤดูฝนที่จะมีน้ำมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แม้จะมีการพร่องน้ำมาตลอด แต่ในช่วงฤดูฝนนี้ยังต้องระบายน้ำเพื่อเตรียมรับน้ำในช่วงปลายเดือนส.ค.นี้ ประมาณ 100 แห่งในภาคอีสาน ใต้ เหนือ และตะวันตก ทุกอ่างเก็บน้ำจะเฝ้าระวังใกล้ชิดติดตามสถานการณ์ทุกชั่วโมงในเรื่องของการพร่องน้ำโดยใช้การบริหารจัดการเขื่อนแก่งกระจานเป็นต้นแบบ ดังนั้นอาจมีบางพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบบ้าง ขณะที่พื้นที่ที่ผลกระทบจากน้ำโดยภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้าแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ลุ่มต่ำที่ได้รับผลกระทบมีประมาณ 887 ไร่ หรือกว่า 200 ครัวเรือน และจากนี้ในเดือนก.ย.ต้องเฝ้าระวังภาคกลางและภาคใต้ด้วย

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าการเตรียมพร้อมในส่วนที่กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตดูแลความมั่นคงของเขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่ง ขนาดกลาง 478 แห่ง และขนาดเล็ก 1,097 แห่ง ในการระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์การควบคุมระดับน้ำสูงและต่ำ โดยการระบายน้ำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด โดยสนทช.ได้สั่งการให้เตรียมพร้อมระหว่างปลายเดือน ส.ค.ถึงต้นเดือน ก.ย.นี้ ที่จะกระทบในพื้นที่ภาคอีสาน จึงต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในการบริหารจัดการ

นายทองเปลว กล่าวอีกว่า สำหรับการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนแก่งกระจาน ถือว่าขณะนี้สอบผ่าน โดยการระบายน้ำเป็นไปตามที่คาดการณ์ โดยระบายผ่าน 3 ช่องทาง ทั้งทางระบายน้ำล้น กาลักน้ำ และผ่านประตูระบายน้ำ เพื่อออกสู่เขื่อนเพชรที่จะรับน้ำต่อเพื่อไปลงแม่น้ำเพชรบุรี มีปริมาณน้ำเข้า 737ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ล้นทางระบายน้ำล้น 60 ซม. เหลือปริมาณน้ำออก 195 ล.ม.ต่อวัน จากนั้นต้องดูว่าน้ำที่เข้าเขื่อนเพชร มาทำหน้าที่ควบคุมน้ำและบายน้ำได้ตามที่คาดการณ์ประมาณ 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะทำให้น้ำที่กระทบเข้าอำเภอบ้านลาดและอำเภอเมืองต่ำกว่าระดับ 50 เซนติเมตร ซึ่งการระบายน้ำต้องคำนึงไม่ให้เกิดผลกระทบกับท้ายเขื่อนแก่งกระจานด้วย

“ขณะนี้ปริมาณน้ำยังไม่เกินคาดการณ์ที่วางแผนไว้ ยืนยันว่าท้ายเขื่อนเพชรที่เข้าสู่อำเภอเมืองอยู่ในการควบคุมจึงไม่น่ากังวลใจ ขณะที่เขื่อนน้ำอูนยังสามารถระบายได้ต่อเนื่องโดยปริมาณน้ำในแม่น้ำสงครามยังสูงกว่าแม่น้ำโขง จึงต้องทำการเฝ้าระวังต่อไป ขณะที่เขื่อนปราณบุรีปริมาณน้ำเข้าและการระบายออกยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน”