เร่งระบาย ‘5เขื่อนใหญ่’ เกินเกณฑ์ควบคุม เตือนพื้นที่ท้ายน้ำรับมือ

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มี 5 แห่ง คือ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มีปริมาณน้ำ คิดเป็น 109% น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 1.41 ม. แนวโน้มการระบายน้ำยังคงสูง และจากการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ จะมีฝนตกมากขึ้นส่งผลให้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นมาก ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนในพื้นที่ท้ายน้า เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เมื่อเวลา 06.00 น. บริเวณอำเภอแก่งกระจาน น้ำล้นตลิ่ง 11 เซนติเมตร อำเภอเมืองเพชรบุรี ต่ำกว่าตลิ่ง 33 เซนติเมตร ทำให้พื้นที่ริมสองฝั่งลำน้ำในบริเวณอำเภอแก่งกระจำน ท่ายาง บ้านลาด เมือง และอำเภอบ้านแหลม ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องเร่งพร่องน้ำโดยการระบายน้ำลงแม่น้ำเพชรบุรีให้เต็มศักยภาพลำน้ำ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในเขื่อน โดยประสานจังหวัดและพื้นที่เพื่อแจ้งเตือน

เขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร มีปริมาณน้ำ คิดเป็น 101% พื้นที่ท้ายน้ำ มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม บ้านพอกใหญ่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งต้องเร่งพร่องน้ำให้เต็มศักยภาพของลำน้ำท้ายน้ำ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อนโดยประสานจังหวัดและพื้นที่ พร้อมการแจ้งเตือนและให้การช่วยเหลือ

เขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี มีปริมาณน้ำ คิดเป็น 90% พื้นที่ท้ายน้ำไม่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ ซึ่งระหว่างวันที่ 23-27 ส.ค. 61 จะปรับการระบายน้ำเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 53 ล้าน ลบ.ม. จึงต้องมีการแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ

เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก มีปริมาณน้ำ คิดเป็น 86% เมื่อวานนี้มีน้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 0.63 ซม. จึงต้องเร่งพร่องน้ำให้เต็มศักยภาพของลำน้ำท้ายน้ำ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อนโดยประสานจังหวัดและพื้นที่

ส่วนเขื่อนปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีปริมาณน้ำ คิดเป็น 84% มีแผนระบายลงแม่น้ำปราณบุรีเพิ่มขึ้น คาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำปราณบุรีจะมีระดับสูงขึ้น ทั้งนี้จะค่อยๆ เพิ่มอัตราการระบาย โดยติดตามดูผลกระทบท้ายน้ำเป็นระยะ