กรมศุลกากรแจงปมถูกกล่าวหาเอื้อประโยชน์บริษัทเชฟรอนเลี่ยงภาษีน้ำมัน

กรณีที่มีข่าวกรมศุลกากรเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท เชฟรอน หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ชี้แจงว่า กรณีของบริษัทเชฟรอนที่เกี่ยวข้องกับกรมศุลกากร มี 2 กรณี คือ 1.การส่งน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะที่ไหล่ทวีป ในคราวแรกบริษัท ปฏิบัติพิธีการศุลกากรส่งออกสินค้า แต่ต่อมา เมื่อมีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 1886/2559 ว่า การส่งน้ำมันไปยังแท่นขุดเจาะเป็นการใช้ภายในประเทศ จึงต้องมีการยกเลิกใบขนสินค้า (ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามข้อสังเกตของ สตง. ที่ให้ยกเลิกใบขนสินค้า) และเมื่อไม่ใช่การส่งออก จึงต้องชำระภาษีสรรพสามิต ดังนั้น เมื่อไม่ใช่การส่งออก เป็นการใช้ภายในประเทศ จึงไม่มีอากรศุลกากร และไม่มีความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากร ไม่มีค่าปรับตามกฎหมายศุลกากร ส่วนการที่บริษัท ต้องเสียภาษีสรรพสามิตและเบี้ยปรับตามภาษีสรรพสามิตหรือไม่ อย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่กรมสรรพสามิตซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการ

2.กรณีการจับน้ำมันเถื่อน 1.6 ล้านลิตร เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ตรวจยึดน้ำมันของกลางทั้งหมดจากเรือ supply boat ทั้ง 8 ลำ จำนวนน้ำมันทั้งหมด 1,680,975 ลิตร ภายในเขตทำเนียบท่าเรืออนุมัติ ซึ่งยังอยู่ภายในเขตศุลกากร และบริษัท ได้มีคำร้องขอให้เปรียบเทียบงดการฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติศุลกากร ยอมรับว่ามีการกระทำผิดฐานพยายามนำของที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 และยินยอมยกของกลางน้ำมันไฮสปีดดีเซลให้เป็นของแผ่นดิน ตามเกณฑ์ระงับคดีของกรมศุลกากร เพื่อนำของกลางจำหน่ายเป็นรายได้ของรัฐ และนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวเมื่อปี 2555 คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้วินิจฉัยคำว่า “ราชอาณาจักรไทย” ตามพระราชบัญญัติปิโตรเลี่ยม พ.ศ.2514 ว่ามีขอบเขตคลอบคลุมไปถึงไหล่ทวีป ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของไทย การตีความครั้งนั้นทำให้เชฟรอนได้รับการยกเว้นภาษีน้ำมันตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 เป็นต้นมา

ในต้นปี 2557 กรมศุลกากรจับเรือขนส่งน้ำมันของเชฟรอนขณะจอดเรืออยู่ชายฝั่งไทย ตรวจค้นในเรือพบน้ำมันส่งออก ขนกลับเข้ามาในประเทศ จึงยึดน้ำมันเป็นของกลาง เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการทบทวนในที่ประชุมร่วมระหว่างกรมศุลกากรกับเชฟรอนว่า กรณีเชฟรอนส่งน้ำมันไปแท่นขุดเจาะ ถือเป็นการซื้อขายภายในประเทศหรือส่งออก ผลการพิจารณาในที่ประชุมมีมติให้เชฟรอนปฏิบัติพิธีการในรูปแบบการค้าชายฝั่ง ซึ่งถือเป็นการค้าขายภายในประเทศไปจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เชฟรอนจึงไม่ได้รับการยกเว้นภาษีน้ำมันนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในปี 2558 บริษัทเชฟรอน ได้ทำหนังสือทวงถามไปยังกรมศุลกากร โดยผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมศุลกากร แจ้งกลับไปว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นการส่งออก ทำให้บริษัทเชฟรอนได้รับการยกเว้นภาษีน้ำมันอีกครั้ง หลังจากนั้นภายในกรมศุลกากรมีความเห็นแตกเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังอธิบดีกรมศุลกากร และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

โดยเมื่อต้นปี 2559 ได้ทำหนังสือถามคณะกรรมการกฤษฎีกาและขอให้กระทรวงการคลังยกเว้นภาษีให้กับเชฟรอน ในกลางปี 2559 คณะกรรมการกฤษฎีกาแนะนำให้กรมศุลกากรหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมศุลกากรได้เรียกประชุม 3 หน่วยงานตามคำแนะนำ ซึ่งผลการพิจารณาในที่ประชุม มีมติให้เชฟรอนปฏิบัติพิธีการในรูปแบบการค้าชายฝั่ง แต่กระทรวงการคลังไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าวจึงสั่งให้อธิบดีกรมศุลกากรทำหนังสือสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้ง

ขณะที่สตง.ส่งผลการตรวจสอบถึงนายกรัฐมนตรี รมว.คลังและปลัดกระทรวงการคลัง โดยขอให้สั่งการกรมสรรพสามิตเรียกเก็บภาษีจากเชฟรอน รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตีความ

สุดท้ายคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยกรณีขนส่งน้ำมันที่แท่นขุดเจาะ ถือเป็นการค้าขายภายในประเทศ ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ ในวันที่ 17 มีนาคม 2560 เชฟรอนได้จ่ายเงินค่าภาษีที่ได้รับการยกเว้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวน 2,100 ล้านบาทคืนแก่รัฐ