ยกเหตุการณ์ ‘หมูป่าติดถ้ำ-ตูน บอดี้สแลม’ ช่วยลดขัดแย้งสังคมไทย

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พลโทคงชีพ ตันตระวาณิชย์ ประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์การสร้างความสามัคคีปรองดอง เปิดเผยว่า ความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงทางสังคมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่เป็นที่ปรารถนาของสังคมและประชาชนทุกฝ่าย บทเรียนความขัดแย้ง เป็นโอกาสให้เราได้เรียนรู้มากขึ้น ที่จะอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างและความขัดแย้ง ที่เราทุกคนต่างเป็นสาเหตุของปัญหา และมีความจำเป็นต้องร่วมกันแก้ปัญหา โดยไม่โทษกันไปมา

พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า วันนี้เรากำลังพยายามร่วมกันประคองนำพาประเทศ เดินทางไปข้างหน้าด้วยความสงบและมั่นคง ผ่าน “สัญญาประชาคม” ที่ร่วมกันจัดทำขึ้นจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ซึ่งมีแก่นสาระโดยสรุปคือ “4 เคารพ : 2 รับผิดชอบ” ประกอบด้วย การเคารพความแตกต่าง จากความเป็นจริงของคนและสังคมที่มีความหลากหลาย โดยไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน , การเคารพความเสมอภาค เท่าเทียมกันในวิธีประชาธิปไตยที่ทุกคนเป็นเจ้าของและต่างยึดมั่น , การเคารพสิทธิผู้อื่น โดยไม่ใช้สิทธิเสรีภาพของตน ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น , การเคารพกติกาหรือกฎหมาย โดยไม่ใช้อารมณ์หรือกำลังแก้ปัญหา และต้องยอมรับผลของการละเมิดกฎหมาย

ขณะเดียวกัน ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง โดยรู้หน้าที่และเรียนรู้ที่จะพัฒนาพึ่งตนเอง โดยไม่สร้างปัญหาให้สังคม รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคม ในฐานะสมาชิกสังคมที่ต้องมีส่วนร่วมแก้ปัญหาและใช้สิทธิเสรีภาพโดยมีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งนี้ ความเคารพและความรับผิดชอบดังกล่าว เป็นพื้นฐานสังคมประชาธิปไตยและแกนของสาระในสัญญาประชาคม ทั้ง 10 ข้อ

จากปรากฎการณ์เหตุการณ์ช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่า และ การช่วยเหลือจัดหาทุนบริจาคสร้างโรงพยาบาล โดย ตูน บอดี้สแลม เป็นบทพิสูจน์พื้นฐานธรรมชาติแก่นแท้ของสังคมไทย ซึ่งมิได้มีปัญหาความขัดแย้งเชิงลึกที่เป็นจุดอ่อนของสังคมไทยแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับเป็นจุดแข็งของสังคมไทยที่น่าภาคภูมิใจและเป็นที่ยอมรับชื่นชมของสังคมโลก ขอเพียงเราเชื่อมั่นและสนับสนุนความพยายามร่วมกัน ให้สามารถเดินหน้าผ่านความเคยชินและแรงเสียดทานเดิม ๆ ไปสู่เป้าหมาย ความสงบสุขของสังคมที่ยั่งยืน ร่วมกันให้ได้